Economics

ทำไมค่าไฟแพง! เปิด 4 เหตุผลดันค่า Ft พุ่ง คาดปี 66 จ่อแพงสุดเป็นประวัติการณ์

ทำงานหาเงินมาจ่ายค่าไฟ! “กกพ.” เปิด 4 เหตุผลทำไมค่าไฟแพง ด้าน “กฟผ.” คาดปีหน้าสาหัส! จ่อพุ่งสูงถึง 13.30 บาทต่อหน่วย แพงสุดเป็นประวัติการณ์

ในช่วงที่ผ่านมา โลกออนไลน์ได้มีการแชร์บิลค่าไฟที่แพงขึ้นแบบสาหัส! สำนักคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ได้ออกมาชี้แจงถึงสาเหตุที่ต้องปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ให้สะท้อนต้นทุนประมาณการในรอบการคิดค่า Ft ซึ่งส่งผลให้ค่าไฟแพงขึ้น

ค่าไฟแพง

การขึ้นค่า Ft ในช่วงปี 2565-2566 นี้มีสาเหตุหลักมาจากสัดส่วนการใช้ Spot LNG ที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและพม่าที่ปริมาณลดลง รวมทั้งความผันผวนของ Spot LNG ในตลาดโลก ซึ่งสรุปสาเหตุต่าง ๆ ได้ 4 ข้อ ดังนี้

ทำไมค่าไฟแพงขึ้น

  1. ปริมาณก๊าซในประเทศที่ลดลง จากเดิมสามารถจ่ายก๊าซได้ 2,800 – 3,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลดลงเหลือราว 2,100 – 2,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทำให้ต้องนำเข้า Spot LNG เข้ามาเสริมหรือเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ามันเพื่อทดแทนปริมาณก๊าซที่ขาดแต่ในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ ราคา Spot LNG มีราคาแพงและผันผวนในช่วงประมาณ 25-50 USD/MMBTU เทียบกับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีราคาประมาณ 6-7 USD/MMBTU ดังนั้น การทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยด้วย LNG หรือใช้น้ำมัน จะส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
  2. การผลิตก๊าซจากพม่าที่ไม่สามารถผลิตได้ตามกำลังการผลิตเดิม และมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2565 และต้นปี 2566 ซึ่งอาจทำให้มีความต้องการนำเข้า LNG มากกว่าที่ประมาณการไว้เดิม
  3. สถานการณ์ผู้ผลิต LNG ชะลอการลงทุน อันเนื่องมาจากมีความต้องการใช้พลังงานน้อยในช่วงโควิด-19 ในปลายปี 2564 หลังจากที่หลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจากโควิด ทำให้ความต้องการใช้ LNG มีมากกว่ากำลังการผลิตในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อราคาและการเจรจาสัญญาซื้อขาย LNG โดยเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2564 และต่อเนื่องตลอดปี 2565 และคาดว่าจะต่อเนื่องไปในปี 2566
  4. สภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้รัสเซียลดหรือตัดการจ่ายก๊าซธรรมชาติทางท่อไปยังยุโรป ส่งผลให้ความต้องการ LNG เพิ่มขึ้นอย่างมากในยุโรป และส่งผลกระทบทางอ้อมต่อราคา LNG ในตลาดเอเชีย

ค่าไฟแพง

ปีหน้าแพงสุดเป็นประวัติการณ์

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และโฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ค่าไฟฟ้าปี 2566 จะทรงตัวระดับสูงต่อไป เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงหลัก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ผันแปรตามราคาน้ำมัน ขณะที่ไทยต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าถึง 20% ที่มีราคาสูงมาก หากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังยืดเยื้อต่อเนื่องก็จะทำให้ราคา LNG มีแนวโน้มแพงมาก เช่น หาก LNG 50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากปัจจุบัน 40 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เมื่อเทียบเป็นหน่วยค่าไฟฟ้าของไทยจะสูงถึงกว่า 13.30 บาทต่อหน่วย หากผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกันประหยัด หรือใช้ไฟฟ้าให้น้อยที่สุด จะทำให้ใช้แอลเอ็นจีน้อยลง ต้นทุนค่าไฟฟ้าก็จะต่ำลง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันค่า Ft โดยรวมในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ขึ้นมาอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และเมื่อนำมารวมกับค่าไฟฟ้าฐานประมาณ 3.79 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่าย 4.72 บาทต่อหน่วย ทำสถิติแพงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ ยังเป็นค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 ซึ่งอยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วยหรือขึ้นมาถึง 18%

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในปี 2566 น่าจะเพิ่มขึ้นแตะราว 4.85 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นราว 16% จากค่าไฟเฉลี่ยทั้งปี 2565 ที่อยู่ราว 4.18 บาทต่อหน่วย

ค่าไฟแพง

แนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ด้าน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า อัตราค่าไฟฟ้าโดยรวมของไทยในปี 2566 ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึง 5 บาทต่อหน่วย โดยสะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แท้จริงที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยแหล่งเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าของไทยทั้งหมดมาจากหลายแหล่ง ซึ่ง 56.2% มาจากก๊าซธรรมชาติ (ส่วนใหญ่มาจากอ่าวไทยและเมียนมา) และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนอีกราว 43.8% มาจากพลังงานรูปแบบอื่น ๆ (พลังงานหมุนเวียนและนำเข้าจากต่างประเทศ)

อย่างไรก็ดี ก๊าซธรรมชาติราคาถูกที่ผลิตจากอ่าวไทยกลับทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง และลดลงมากกว่าที่ประเมินไว้ จากเดิมที่สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเพื่อผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 70% ในปี 2560 ลดลงเป็น 60% ในปี 2565 และมีแนวโน้มลดลงเหลือต่ำกว่า 40% ในปี 2575

ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 0.7% ส่งผลให้ไทยจำเป็นต้องจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวเพิ่มเติมจากที่มีในสัญญาเพื่อรองรับความต้องการใช้งานในประเทศ ทำให้อีก 10 ปีข้างหน้าคาดว่าต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากต่างประเทศเกินกว่าครึ่งหนึ่งของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด

ค่าไฟแพง

นอกจากนี้ ราคาอ้างอิงก๊าซธรรมชาติเหลวที่นำเข้าจากต่างประเทศก็มีความผันผวนสูงและอ่อนไหวต่อสถานการณ์โลก เห็นได้ชัดจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดยล่าสุดราคาก๊าซธรรมชาติ (Dutch TTF) ในตลาดยุโรปปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 280 ยูโรต่อเมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 350% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 อีกทั้งค่าเงินบาทที่ผันผวนไปในทิศทางอ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติอ้างอิงสูงขึ้นมาก

แม้ว่าปัจจุบันเอกชนหลายรายจะมีใบอนุญาตการเป็นผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวที่ต่ำกว่าโควตา เพราะต้นทุนการจัดเก็บก๊าซธรรมชาติที่ค่อนข้างสูง

ฟันธงพุ่งแตะ 5 บาทต่อหน่วย

ttb analytics ประเมินว่า ภายหลังจากเศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ภาครัฐจึงเริ่มถอนคันเร่งมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพต่าง ๆ รวมถึงการทยอยปรับเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ส่งผลให้นับตั้งแต่ต้นปี 2565 อัตราค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและปรับเพิ่มที่ระดับ 3.79 บาทต่อหน่วยในงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ล่าสุดจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.72 บาทต่อหน่วยในงวดเดือนกันยายนถึงธันวาคม และมีความเป็นไปได้สูงที่ค่าไฟฟ้าจะแตะที่ 5 บาทต่อหน่วยในปี 2566 ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20% เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2564

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK