Economics

ถึง 28 ก.พ.เท่านั้น! ‘ประกันสังคม’ เปิดฟังความเห็น ให้จ่ายเงินสมทบเพิ่ม สูงสุดเกิน 1,000 บาท

กระทรวงแรงงาน เปิดรับฟังความเห็น เพิ่มจ่ายเงินสมทบ “ประกันสังคม” จาก 750 บาท เป็นสูงสุด 1,150 บาท แสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์ระบบกลางกฎหมายได้ถึง 28 กุมภาพันธ์นี้ 

กระทรวงแรงงานเปิดรับฟังความคิดเห็น กรณีผู้ประกันตนประกันสังคม มาตรา 33 เรื่อง กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ และขั้นสูง ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. … ตั้งแต่วันนี้ถึง 28 กุมภาพันธ์นี้ ผ่าน เว็บไซต์ระบบกลางกฎหมาย โดยสาระสำคัญระบุว่า

ประกันสังคม

กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้กำหนดค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนมาตรา 33 ไว้ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2538 จนถึงปัจจุบัน

จึงสมควรปรับปรุงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเป็นไปตามมาตรฐานเพดานค่าจ้าง ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อความเพียงพอของสิทธิประโยชน์ที่เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้

เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกองทุนรองรับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น เพื่อการกระจายรายได้จากผู้มีรายได้มากไปสู่ผู้มีรายได้น้อยภายในระบบประกันสังคม และเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบประกันสังคม

ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนสำหรับผู้ประกันตน

จะทำให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น เนื่องจากฐานที่ใช้ในการคำนวณเพื่อรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะคำนวณจากค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม ดังนี้

1. เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

2. เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ 70% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

3. เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

4. เงินสงเคราะห์กรณีตาย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

5. เงินทดแทนการขาดรายได้ในกรณีว่างงาน 50% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

6. เงินบำนาญชราภาพ ไม่ต่ำกว่า 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่นำส่งเข้ากองทุน โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบ 15 ปี จะได้รับบำนาญ 20% ของค่าจ้าง ส่วนผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 1.5% ทุกการส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน

สำหรับเงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ เนื่องจากมีการนำส่งเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้น จากการปรับฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ

ประกันสังคม

ตัวอย่างผลต่อผู้ประกันตน มาตรา 33

ในปี 2567 ผู้ประกันตนที่ได้รับค่าจ้างมากกว่า 17,500 บาท จะส่งเงินสมทบเดือนละ 875 บาท (เดิม 750 บาท) และจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น เงินทดแทนขาดรายได้กรณีว่างงานเพิ่มเป็นเดือนละ 8,750 บาท (เดิม 7,500 บาท) เป็นต้น

ร่างกฎกระทรวงได้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูง ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. …. มีการปรับฐานค่าจ้างขั้นสูงสุดจาก 15,000 บาท อย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนี้

  • ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 17,500 บาท
  • ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 20,000 บาท
  • ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 23,000 บาท

หากกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ เงินสมทบประกันสังคมของผู้ประกันตนมาตรา 33 จะต้องมีการปรับเพิ่มขึ้นตามปี ตั้งแต่ปี 2567 โดยจำนวนเงินสมทบจะเพิ่มขึ้นผกผันตามเพดานค่าจ้างขั้นสูง

  • ปี 2567 – 2569 ผู้ประกันตน ม.33 ที่เงินเดือนมากกว่า 17,500 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 875 บาท
  • ปี 2570 – 2575 ผู้ประกันตน ม.33 ที่เงินเดือนมากกว่า 20,000 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 1,000 บาท
  • ตั้งแต่ปี 2573 ผู้ประกันตน ม.33 ที่เงินเดือนมากกว่า 23,000 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 1,150 บาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo