Economics

สปส.ประกาศลดเงินสมทบช่วยนายจ้าง

สปส.พร้อมส่งมอบของขวัญปีใหม่ 2566 ประกาสลดเงินสมทบช่วยนายจ้าง เปิดวอล์กอินผู้ประกันตนผ่าตัดทำหัตถการ” 5 โรคเร่งด่วน ใน รพ.นอกสิทธิ 

วันนี้ (23 มกราคม 2566) นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) แถลงว่า ตามที่ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ สปส.มอบของขวัญปีใหม่ 2566 เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้ผู้ประกันตน ลูกจ้าง นายจ้าง มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ขณะนี้มีของขวัญจำนวน 4 ชิ้น ที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว

นายจ้าง

นายบุญสงค์ กล่าวว่า 1 ใน 4 ของขวัญ คือ การลดเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามค่าประสบการณ์ของนายจ้าง โดย สปส.ได้แก้ไขประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณอัตราส่วนการสูญเสีย ลงวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2562 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 โดยกำหนดให้มีเพดานขั้นสูงของอัตราส่วนการสูญเสียอยู่ที่ 200 ส่งผลให้นายจ้างที่ถูกเรียกเก็บเงินสมทบตามอัตราค่าประสบการณ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากอัตราเงินสมทบในปีที่ผ่านมา จ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลาเพียงไม่เกิน 3 ปี จากเดิมที่ไม่มีการกำหนดเพดานขั้นสูงของอัตราส่วนการสูญเสีย และการเรียกเก็บเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ดังกล่าวมีระยะเวลาสูงสุดถึง 22 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือนายจ้างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว (การแก้ไขหลักเกณฑ์ส่งผลให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบลดลง และทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 229.22 ล้านบาท)

“นอกจากนี้ ของขวัญที่ให้แก่ผู้ประกันตน คือ สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนดอกเบี้ย ไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกันตน ในเรื่องของการมีบ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดย สปส. ร่วมมือกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัดโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน สามารถใช้สิทธิในการไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุด จากสถาบันการเงินอื่น รวมถึงเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในบัญชีเงินกู้ที่กู้อยู่กับ ธอส. “โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน” วงเงินให้กู้สูงสุดตามจำนวนเงินต้นคงเหลือไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ ปีที่ 1-5 เท่ากับ 1.99% ต่อปี” นายบุญสงค์ กล่าว

สปส

เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า ในปีนี้ สปส.ยังเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตนให้เข้าถึงการรักษา 5 โรค ตามโรงพยาบาลที่กำหนด ซึ่งเป็นโรคที่พบมากในกลุ่มผู้ประกันตน โดย สปส.ได้ร่วมกับสถานพยาบาลที่บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) การให้บริการ จำนวน 10 แห่ง

หากมีข้อบ่งชี้และตรวจเจอโรคที่โรงพยาบาล (รพ.) ตามสิทธิแล้ว แต่ต้องรอคิดผ่าตัดรักษานาน ก็สามารถถือผลการตรวจวินิจฉัยวอล์กอินเข้าไปรับการรักษาภายใน 15 วัน ตามไทม์ไลน์ที่ได้ทำข้อตกลงไว้กับ รพ.10 แห่ง ที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ สปส. เมื่อดำเนินการแล้ว สปส.จะต้องมีการติดตามและประเมินผลต่อไป สำหรับ รพ.คู่สัญญามีดังนี้

1.หัตการโรงหัวใจและหลอดเลือด รักษาที่ รพ.จุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ จ.สมุทรปราการ, รพ.เทพธารินทร์ กรุงเทพมหานคร, รพ.เกษมราษฎร์บางแค กรุงเทพฯ, รพ.เวิลด์เมดิคอล จ.นนทบุรี, รพ.วิชัยเวช อินเตอร์เนชันแนล หนองแขม กรุงเทพฯ และ รพ.ศิครินทร์ กรุงเทพฯ

2.หัตถการโรคหลอดเลือดสมอง รักษาที่สถาบันโรคประสาท กรุงเทพฯ

3.การผ่าตัดนิ่วในไตและถุงน้ำดี รักษาที่ รพ.สมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จ.หนองคาย

4.การผ่าตัดมะเร็งเต้านม รักษาที่ รพ.บางปะกอก 8 กรุงเทพฯ

และ 5.การผ่าตัดก้อนเนื้อที่มดลูก รักษาที่ รพ.บางปะกอก 8 และ รพ.ราชวิถี กรุงเทพฯ

โครงการนี้นำร่องเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2566 และจะทำการประเมินผล หากพบว่า มีความคุ้มค่า คุ้มทุน ลดการสูญเสียจากการเสียชีวิตและทุพพลภาพ คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาเดินหน้าโครงการทั่วประเทศ เพราะมี รพ.หลายแห่งให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ

นอกจากนี้ เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า ยังมีโครงการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของผู้ประกันตนเชิงรุก โดยค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจในสถานประกอบการนำร่องใน 7 จังหวัด ช่วง 6 เดือน ได้แก่ สมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง พระนครศรีอยุธยา และสมุทรสาคร ซึ่งได้มีการคิกออฟโครงการ เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา โดยใช้โมเดลเชิงรุก 1.เน้นการค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและหัวใจ 2.แบ่งกลุ่มตามความเสี่ยง เสี่ยงสูง ปานกลาง และน้อย 3.โรงพยาบาลนัดหมายประเมิน เรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคลระยะเวลา 6 เดือน 4.ติดตามผลระบบเทเลเมดิซีน (Telemedicine) และดำเนินการปรับพฤติกรรม เป้าหมายผู้ประกันตน 300,000 คน” นายบุญสงค์ กล่าวและว่า สำหรับโครงการนี้ เนื่องจากมีการศึกษาเชิงวิชาการพบว่า โรคดังกล่าวหากรอให้ป่วยแล้วจะมีค่าใช้จ่ายเยอะ และเสี่ยงเสียชีวิต ทุพพลภาพ ซึ่งที่ผ่านมาวิเคราะห์เจอกลุ่มเสี่ยงกว่าร้อยละ 60
อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo