COVID-19

สุดเหงา ‘บวท.’ เผยปริมาณเที่ยวบิน ‘ตรุษจีน’ ปีนี้วูบ 71%

สุดเหงา “วิทยุการบินฯ” เผยปิดน่านฟ้าสกัดโควิด กดดันปริมาณ เที่ยวบิน “ตรุษจีน” ปีนี้ลดลง 71% วันนึงเหลือไม่ถึง 800 ไฟลท์

นายทินกร ชูวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ปฏิบัติการ) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมปริมาณเที่ยวบินเดือนกุมภาพันธ์  2564 แนวโน้มทรงตัว เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

เที่ยวบิน ตรุษจีน

โดยเที่ยวบินระหว่างประเทศและบินผ่านน่านฟ้าค่อนข้างคงที่ ส่วนเที่ยวบินภายในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา การเดินทางเข้าประเทศเป็นการเดินทางแบบมีเงื่อนไข คือ เที่ยวบินที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินส่งบุคคลกลับไทย (Repatriation Flight) และเที่ยวบินกึ่งพาณิชย์กลับไทย (Semi-Commercial Flight)

จากตารางการบินล่วงหน้าของเที่ยวบินเข้า/ออก ประเทศจีน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ไม่มีเที่ยวบินตามตารางบินปกติ (Schedule Flight) เดินทางมายังประเทศไทย ส่งผลให้ในช่วงเทศกาล ตรุษจีน จะมีปริมาณ เที่ยวบิน รวม 5,410 เที่ยวบิน ในช่วง 7 วัน เฉลี่ย 773 เที่ยวบินต่อวัน ลดลง 71 % จากช่วงเดียวกันของปี 2563

อย่างไรก็ตาม บวท. พร้อมให้บริการทุกเที่ยวบินโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก และยังคงมุ่งมั่นปรับปรุงพัฒนาการให้บริการจราจรทางอากาศอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานสากล เพื่อให้พร้อมรับกับความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการบิน ขณะเดียวกันขอให้ประชาชนเดินทางและเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาล ตรุษจีน นี้ด้วยความปลอดภัย รักษาระยะห่างตามมาตรการสาธารณสุข เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

หอการค้า ตรุษจีน

ในช่วงเทศกาลตรุษจีน 2564 นอกจากไวรัสโควิด-19 จะทำให้น่านฟ้าประเทศไทยเงียบเหงาแล้ว สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ก็ทำให้การจับจ่ายใช้สอยในปีนี้ก็เงียบเหงาที่สุดในรอบ 13 ปีเช่นกัน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาล ตรุษจีน ปี 2564 จากประชาชน 1,215 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 25 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2564 พบมูลค่าการใช้จ่ายปีนี้ 44,939 ล้านบาท ลดลง 21.85% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีมูลค่าใช้จ่าย 57,506 ล้านบาท ซึ่งลดลงมากสุดเป็นประวัติการณ์ หรือ ลดลงต่ำสุดในรอบ 13 ปีนับตั้งแต่มีการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2552

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจ 42.2% ระบุว่า มูลค่าการใช้จ่ายปี 2564 ที่ลดลงเป็นเพราะเศรษฐกิจแย่ลง รายได้ลดลง ลดค่าใช้จ่าย การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นหนี้เพิ่ม ของแพง ตกงาน ส่งผลให้ปริมาณการซื้อสินค้าลดลง ส่วนอีก 33.2% ใช้จ่ายไม่เปลี่ยนแปลง และมีเพียง 24.6% ที่ตอบใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น รายได้-โบนัสเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจดีขึ้น

ส่วนแหล่งที่มาของเงินที่นำมาใช้จ่าย ผู้ตอบ 66.8% ตอบมาจากเงินเดือน/รายได้ปกติ, 19.8% เงินออม, 10% โบนัส/รายได้พิเศษ, 1.6% เงินกู้ และอีก 1.8% เป็นเงินช่วยเหลือจากภาครัฐจากมาตรการต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งมากกว่าปี 2563 ที่มีพียง 0.1% ดังนั้นการที่ภาครัฐมีมาตการช่วยเหลือ สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้างในช่วง ตรุษจีน

มูลค่าใช้จ่ายปี 2563 ที่ติดลบ 1.3% จากปี 2562 ก็ว่าน่าตกใจแล้ว พอมาเจอปี 2564 ที่ติดลบมากถึง 21.85% หายไป 12,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2563 ยิ่งน่าตกใจมาก เพราะคนตอบว่า เศรษฐกิจไม่ดี รายได้ลดลง และผลกระทบของโควิด ทำให้ใช้จ่ายลดลง” นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว

shutterstock 1745293367

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าเชื่อว่า การใช้จ่ายน่าจะเริ่มดีขึ้น ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ หลังภาครัฐเริ่มอัดฉีดเงินเข้าระบบจากมาตรการ “เราชนะ – เรารักกัน” แต่ยังไม่มีผลชดเชยรายได้ที่หายไปจากช่วง ตรุษจีน ที่ 12,000 ล้านบาทได้ คงต้องรอดูมาตรการกระตุ้นของรัฐในระยะต่อไปว่า จะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงไร

มูลค่าใช้จ่ายช่วงตรุษจีนที่หายไป 12,000 ล้านบาท มีผลทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หายไป 0.05-0.07% แต่ถ้ารัฐอัดฉีดเงินในมาตรการเราชนะ และเรารักกันเข้ามาในช่วงปลายเดือนนี้ จะมีผลกระตุ้นการใช้จ่ายได้ คาดว่า เศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน ถ้ารัฐบาลยังมีมาตรการกระตุ้นออกมาต่อเนื่อง รวมถึงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้บ้าง 4-6 ล้านคน น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้ประมาณ 3% แต่ถ้ายังไม่มีเข้ามาเลยก็อาจโตต่ำกว่า 3% ได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo