Business

‘ดีอีเอส’ ปัดข่าว ‘8 ปีไร้การลงทุน’ ลั่น ดึงเม็ดเงินลงทุน ‘อุตฯยานยนต์ไฟฟ้า’ กว่า 8 หมื่นล้านบาท

“ดีอีเอส” ปัดข่าว “8 ปีไร้การลงทุน” ลั่น ดึงเม็ดเงินลงทุน “อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” กว่า 8 หมื่นล้านบาท จาก 26 โครงการ ทั้งยังมีการเข้าลงทุนด้าน Data Center อีก 3 แห่ง มูลค่ากว่า 24,000 ล้านบาท 

กรณีมีประเด็นข่าวจากสังคมออนไลน์ว่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาไม่มีการลงทุนใหม่ในประเทศ นักลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศขาดความเชื่อมั่นนั้น

วันนี้ (30 ต.ค.) นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ในช่วงระยะเวลา 8 ที่ผ่านมา นักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปี

shutterstock 2204651873

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งสิ้น 26 โครงการ จาก 17 บริษัท คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 80,208 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) จำนวนยานยนต์ที่ได้รับอนุมัติ 838,775 คัน และบีโอไอได้ออกบัตรส่งเสริมการลงทุนแล้วจำนวน 16 โครงการ ได้แก่ โครงการผลิตรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน จำนวน 6 ราย, รถยนต์กระบะ จำนวน 2 ราย และรถจักรยานยนต์ จำนวน 3 ราย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติโครงการพัฒนา Data Center จำนวน 3 แห่ง ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง, นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง และ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ของบริษัท อะเมซอน ดาต้า เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าเงินลงทุนรวม 24,810 ล้านบาท (มูลค่าเงินลงทุนไม่รวมที่ดินและทุนหมุนเวียน 23,658 ล้านบาท)

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินงานของสำนักงาน และหน่วยงานภายใต้ดีอีเอสนั้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) แล้ว 30 พื้นที่ใน 23 จังหวัด

อีกทั้งได้รับความเห็นชอบแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพิ่มเติมจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน และบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ อีก 15 พื้นที่ใน 14 จังหวัด และยังมีแผนจะผลักดันประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะได้อย่างสมบูรณ์ ผ่านการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับกระบวนการการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่มุ่งเน้นให้คนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เกิดแผนการพัฒนาเมือง

1hrJKXtD0jGkgkvqJaHcr91NAGOHG0Q2S85F96P4

รวมถึงโครงการที่ตอบสนองบริบทของพื้นที่ และความต้องการของประชาชนให้กับผู้บริหารเมือง ทั้งระดับประเทศ จังหวัด และชุมชน อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ยกระดับสังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั่วประเทศ

นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ยังได้จัดทำนโยบายแนวทางในการขับเคลื่อนงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ และในมิติการดำเนินงานที่เอ็ตด้าจะต้องขับเคลื่อนในอีก 5 ปีข้างหน้า

ทั้งยังร่วมมือกับทุกภาคส่วน มุ่งสู่การยกระดับชีวิตคนไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้ 4 โครงการสำคัญ ประกอบด้วย การกำกับดูแล Digital Service, ร่วมผลักดัน Digital ID, ส่งเสริมและร่วมพัฒนานวัตกรรมที่น่าเชื่อถือผ่าน ETDA Sandbox และขยายความร่วมมือสร้างโอกาส ก้าวสู่โลกออนไลน์ที่ทุกคนมั่นใจ เพื่อให้เกิดการทำธุรกรรมทางออนไลน์ที่มั่นคงปลอดภัย และน่าเชื่อถือ ซึ่งได้เดินหน้าขับเคลื่อนงานสำคัญอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้คนไทยทำธุรกรรมทางออนไลน์อย่างเชื่อมั่น เพราะธุรกรรมทางออนไลน์ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

จากการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดอีคอมเมิร์สของไทยในปี 2565 มีมูลค่าราว 560,000 ล้านบาท ซึ่งการทำธุรกรรมผ่านออนไลน์คาดว่าจะมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคก็มีความสะดวกและคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo