Business

เปิดลงทะเบียน ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ ปี 67 เริ่ม ต.ค.นี้ เช็กรายละเอียดที่นี่

อปท. เปิดรับลงทะเบียน ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ ปี 67 เริ่ม ต.ค.– พ.ย. 65 และ ม.ค. – ก.ย. 66 ยื่นคำขอที่ท้องถิ่นตามภูมิลำเนา

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งแนวทาง การรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

ลงทะเบียน 2 ช่วง 

โดยในปีนี้ จะเปิดรับลงทะเบียน 2 ช่วง ช่วงแรกตั้งแต่ตุลาคม – พฤศจิกายน 2565 และ ช่วงที่สองตั้งแต่มกราคม – กันยายน 2566

ซึ่งเปิดรับลงทะเบียนผู้สูงที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนมาก่อน (รายใหม่) และผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เกิดก่อน 2 กันยายน 2507) รวมถึงผู้สูงอายุที่ย้ายภูมิลำเนา เข้ามาอยู่ในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ยังไม่ได้ยื่นคำขอลงทะเบียน

ให้ยื่นคำขอลงทะเบียนขอรับเงินเบี้ยยังชีพด้วยตนเอง หรือ อาจมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอลงทะเบียนฯ แทนได้

สำหรับผู้ซึ่งต้องขังหรือจำคุกอยู่ในเรือนจำ ทัณฑสถานหรือสถานที่คุมขังของกรมราชทัณฑ์ ให้มอบอำนาจให้ผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถาน เจ้าหน้าที่ที่ผู้บัญชาการเรือนจำมอบหมาย หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นดำเนินการ ยื่นต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิ์

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

เงื่อนไขผู้มีสิทธิ

  • ผู้มีสิทธิต้องมีสัญชาติไทย
  • มีภูมิลำเนาในเขต อบต. หรือ เทศบาล ตามทะเบียนบ้าน
  • ไม่เป็นผู้ที่ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

เอกสารสำหรับการลงทะเบียน

ในการยื่นแบบคำขอลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพ จะต้องเตรียมเอกสารสำคัญประกอบด้วย

  1. บัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรอื่นที่มีรูปถ่ายซึ่งออกโดยหน่วยงานของรัฐ
  2. ทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
  3. สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

เลือกวิธีรับเงินเบี้ยยังชีพ

สำหรับกรณีประสงค์จะขอรับเงินผ่านบัญชีเงินฝากธนาคาร โดยผู้สูงอายุสามารถแจ้งความประสงค์ วิธีการขอรับเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุ ได้วิธีใดวิธีหนึ่งเท่านั้นดังนี้

  1. รับเงินสดด้วยตนเอง
  2. รับเงินสดโดยบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจ
  3. โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามตนเอง
  4. โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพอยู่แล้ว แต่มีการย้ายภูมิลำเนาไปยังเขต อบต. หรือ เทศบาล อื่น ให้ลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพ ที่มีภูมิลำเนาในเขต อบต. หรือ เทศบาล แห่งใหม่ภายในพฤศจิกายน 2566 หากไม่ได้ไปลงทะเบียนตามกำหนด แต่ได้ลงทะเบียนยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพในภายหลังที่กำหนด ทาง อบต. หรือ เทศบาล แห่งใหม่จะจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้ในปีงบประมาณถัดไป (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568)

ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป ณ บอร์ดประชาสัมพันธ์ของ อบต. หรือ เทศบาล ที่ได้ไปลงทะเบียน หรือพื้นที่ที่ อบต. หรือ เทศบาล กำหนดไว้ และสามารถตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้สูงอายุ ที่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพทั้งหมดได้ ในวันที่ 29 กันยายน 2566

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

กระทรวงมหาดไทยขอเรียนว่า ขณะนี้ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ อยู่ระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเงิน เบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุที่จะกำหนดใหม่

หากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน และมีผลให้กระทรวงมหาดไทยสามารถนำมากำหนดเป็นระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วย หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นใหม่แล้ว  กระทรวงมหาดไทยจะได้แจ้งแนวทาง ในการดำเนินการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพิ่มเติม ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบและถือปฏิบัติต่อไป

หากมีข้อสงสัย หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ อบต. หรือ เทศบาล ในพื้นที่ของท่าน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo