Business

นบข. เห็นชอบวงเงิน 1.5 แสนล้าน ‘ชดเชย-ประกันรายได้ข้าว’ ปี 66

นบข. เห็นชอบ วงเงิน 1.5 แสนล้าน ‘ชดเชย-ประกันรายได้ข้าว’ ปี 66 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เตรียมเสนอครม.พิจารณา

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 2/2565 ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุม เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (8 กันยายน 2565) ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ประกันรายได้ข้าว

เห็นชอบกรอบวงเงิน ประกันรายได้ข้าว

นบข. มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกรอบวงเงิน เพื่อใช้สำหรับจ่ายชดเชยและเป็นค่าบริหารจัดการโครงการ และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ประกอบด้วย

  1.  โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 (ปีที่ 4) วงเงิน 86,740.31 ล้านบาท
  2. มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้ข้าว ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 (ปีที่ 4) วงเงิน 8,022.69 ล้านบาท
  3. โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 วงเงิน 55,364.75 ล้านบาท

รวมทั้งสิ้น 150,127.75 ล้านบาท โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ นบข. นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)  เพื่อพิจารณาตามระเบียบต่อไป

ทั้งนี้ ครม. ได้อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อเป็นหลักประกันในรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และมาตรการคู่ขนานเพื่อสร้างเสถียรภาพราคาข้าว ตามข้อเสนอของ นบข. ต่อเนื่อง 3 ปี ตั้งแต่ปีการผลิต 2562/63 จนถึงปีการผลิต 2564/65

ประกันรายได้ข้าว

7 เดือน ส่งออกข้าวแล้ว 55% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้

พร้อมกันนี้ นบข. รับทราบแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกข้าวไทย ปี 2565 โดยแนวโน้มการส่งออกข้าวไทยปี 2565 กำหนดเป้าหมายการส่งออกอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 7 ล้านตัน โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-ก.ค.) ไทยส่งออกข้าวได้ 4.09 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็น 55% ของเป้าหมายการส่งออก

ทำให้การส่งออกข้าวไทยในปี 2565 มีแนวโน้มที่จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ

  1. ปริมาณน้ำฝนและน้ำในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอต่อการเพาะปลูกทำให้มีผลผลิตมาก
  2. ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ 3) ค่าเงินบาทต่อเหรียญสหรัฐฯ อยู่ในระดับที่อ่อนค่า
  3. ไทยส่งออกข้าวไปยังอิรักได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก เฉลี่ยมากกว่า 100,000 ตัน/เดือน
  4. อานิสงส์จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้มีการนำเข้าข้าวไทยไปใช้ทดแทนข้าวสาลีและข้าวโพดในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น และมีการนำเข้าข้าวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ
  5. บังกลาเทศปรับลดภาษีนำเข้าข้าวนึ่งลงเหลือ 25% จากเดิมที่ 62.5% ซึ่งอาจเป็นโอกาสต่อการส่งออกข้าวนึ่ง

ขณะที่มีอุปสรรค คือความต้องการนำเข้าข้าวบางส่วนเพื่อนำไปใช้ทดแทนข้าวสาลีมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง และราคาปัจจัยการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ปุ๋ย

ประกันรายได้ข้าว

พื้นที่ปลูกข้าว 62.84 ล้านไร่

สำหรับสถานการณ์ข้าวไทย โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ ปี 2565/66 รอบที่ 1 (นาปี) พื้นที่เพาะปลูก 62.84 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.02 ล้านไร่ (+0.03%) พื้นที่เก็บเกี่ยว 60.58 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.73 ล้านไร่ (+1.22%) ผลผลิต 26.92 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.55 ล้านตันข้าวเปลือก (+2.09%)

ขณะที่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 ขึ้นทะเบียน 4.677 ล้านครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 62.68 ล้านไร่ รอบที่ 2 ขึ้นทะเบียน 0.442 ล้านครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 7.00 ล้านไร่ และ ปี 2565/66 รอบที่ 1 (ณ 30 ส.ค. 65) เพาะปลูก เม.ย.- ต.ค. 65 ขึ้นทะเบียนแล้ว 4.078 ล้านครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 55.00 ล้านไร่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo