Business

ข่าวดีท่ามกลางมรสุม Perfect Storm ‘ดร.กอบศักดิ์’ ฟันธง เงินเฟ้อดีขึ้นครึ่งปีหลัง

“ดร.กอบศักดิ์” เชื่อเงินเฟ้อดีขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง ท่ามกลางมรสุม Perfect Storm หลังราคาน้ำมันโลกเริ่มสงบ

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเพจ กอบศักดิ์ ภูตระกูล บอกข่าวดีท่ามกลางมรสุม Perfect Storm เงินเฟ้อจะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ดังนี้

Perfect Storm

ที่ทุกคนรอคอยมาแต่ต้นปี ก็คือ เงินเฟ้อจะ Peak เมื่อไหร่

จากข้อมูลต่างๆ ล่าสุด ถ้าไม่มีอะไรที่ผลิกผันเกินคาด เช่น สงครามลุกลามบานปลาย เปิดแนวรบใหม่ เงินเฟ้อโลกน่าจะเริ่มลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

เป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยสะสางปัญหาอันยุ่งเหยิงของ Perfect Storm ให้ค่อย ๆ คลี่คลายลงบ้าง

ที่คาดว่า เงินเฟ้อจะเริ่มลง ก็เพราะปัจจัยต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไปจากช่วงต้นปี

ที่สำคัญสุดก็คือ ราคาน้ำมันโลกเริ่มลงมาบ้างแล้ว

แม้จะปรับตัวขึ้นลงบ้างในแต่ละสัปดาห์ แต่ก็อยู่ในระดับประมาณ 100 ดอลลาร์/บาเรล ใกล้ๆ กับช่วงก่อนที่เปิดฉากสงคราม (ไม่ใช่ 130-140 ดอลลาร์/บาเรล)

ผลดีที่เราเริ่มเห็นตามมา ก็คือ ราคาหน้าปั๊มลดลง

ในไทย เบนซิน 95 จาก 52 บาท/ลิตร ตอนนี้อยู่ที่ 45 บาท/ลิตร

ในสหรัฐ ราคาน้ำมันหน้าปั๊มที่เคยขึ้นไปที่มากกว่า 5 ดอลลาร์/แกลลอน ตอนนี้ ได้ลดลงต่ำกว่า 4.5 ดอลลาร์/แกลลอน เป็นครั้งแรกนับแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

เรื่องนี้มีนัยยะต่อไปที่เงินเฟ้อ Headline Inflation ของสหรัฐ เพราะว่าองค์ประกอบหมวด Energy ที่มีสัดส่วน 8.7% ของทั้งหมด และหมวดย่อย Energy Commodities ที่มีสัดส่วน 5.2% นั้น เป็นหัวใจหลักที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งในช่วงที่ผ่านมา

อย่างเดือนมิถุนายน ที่เงินเฟ้อสหรัฐ +9.1% มาจากการที่หมวด Energy +42% หมวดย่อย Energy Commodities +61% !!!

1 14

ถ้าราคาน้ำมันหน้าปั๊มสหรัฐยังอยู่ในระดับนี้ หรือลดลงต่ออีกเล็กน้อย แรงกดดันต่อเงินเฟ้อรวม ที่มาจากหมวดย่อย Energy Commodities นี้ จะลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี

ถ้าอยู่ที่ 4.5 ดอลลาร์/แกลลอน หมวดย่อยนี้จะอยู่ที่ +30% ในต้นไตรมาส 4

ถ้าอยู่ที่ 4.0 ดอลลาร์/แกลลอน หมวดย่อยนี้จะอยู่ที่ +20% ในต้นไตรมาส 4

ถ้าอยู่ที่ 3.5 ดอลลาร์/แกลลอน หมวดย่อยนี้จะอยู่ที่ +3% ในต้นไตรมาส 4

ช่วยให้เงินเฟ้อสหรัฐเริ่มปรับตัวลดลงได้

นอกจากนี้ ที่คาดว่าเงินเฟ้อจะ Peak เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มาช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อเพิ่มเติ่มด้วย

1. ราคาสินค้าโลหะโลก ที่ได้ปรับลดลงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งโลหะมีความสำคัญอย่างยิ่งกับการผลิตอุปกรณ์และเครื่องจักรต่างๆ รวมไปถึงภาคก่อสร้าง

2. ราคาธัญพืชและอาหารโลกที่เริ่มปรับตัวลดลงบ้าง ในบางหมวดสินค้า

3. ดอกเบี้ยที่เริ่มเพิ่มขึ้น จากการเร่งปรับดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ช่วยส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในบางด้านเริ่มชะลอลง เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่เริ่มร้อนแรงลดลงมาก หลังดอกเบี้ย Mortgage ปรับตัวขึ้นสูง

4. ที่สำคัญสุด ก็คือ ความกังวลใจของทุกคนว่า สงครามของธนาคารกลางกับเงินเฟ้อ จะนำไปสู่ Recession ในอนาคต และอาจจะลุกลามเป็น Global Recessions ทำให้ทุกคนเริ่มลดการใช้จ่าย ชะลอการจ้างงาน บางแห่งประกาศลดคนงานลง!!!

ทั้งหมดนี้ หมายความว่า ปัจจัยสำคัญ ๆ ที่เป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ เริ่มคลี่คลาย และจะนำไปสู่การปรับตัวลดลงของเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี

หลายคนมีคำถามต่อไปว่า หลัง Peak แล้ว ทุกอย่างจะจบหรือไม่

2 12

การเริ่ม Peak จะเป็นเพียง ก้าวแรก  เท่านั้น

หลังจากนั้น ก้าวต่อไปที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ก็คือ
ก้าวสอง เงินเฟ้อลดลงเร็วแค่ไหน หรือค่อยๆ ลดลงจาก Peak

ก้าวสาม – เงินเฟ้อจะกลับมาที่ 3-4% เมื่อไหร่

ก้าวสี่ – เงินเฟ้อกลับมาที่เป้าหมาย 2% หรือไม่

พัฒนาการของทั้งสี่ก้าวนี้ จะมีนัยยะต่อการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง

เพราะสิ่งที่เป็นเป้าหมายของธนาคารกลาง ไม่ใช่เงินเฟ้อ Peak ไม่ใช่เงินเฟ้อลด ไม่ใช่เงินเฟ้อที่ 3-4% แต่เป็นการกดเงินเฟ้อกลับมาที่ 2% อีกครั้ง

ช่วงที่ยากสุด น่าจะเป็นการลดลงจาก 3-4% กลับมาที่ 2% เพราะเงินเฟ้อ 3-4% สุดท้าย น่าจะมาจากหมวดอื่นๆ ใน Core inflation

หากเงินเฟ้อดื้อแพ่ง ไม่ยอมลง ธนาคารกลางก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยไป จนกระทั่งเงินเฟ้อยอมสยบ กลับมาที่ 2%
หมายความว่า แม้เงินเฟ้อจะ Peak แต่เรายังจะเห็นธนาคารกลาง จ่ายยาแรง ไปอีกระยะ

ที่สำคัญ ธนาคารกลางอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยไปไกลกว่าที่ทุกคนคาด จากที่เคยพูดกันว่า เฟดจะขึ้นไปที่ 3.8% แล้วจบ อาจจะไม่พอสำหรับความท้าทายรอบนี้

แต่ทั้งหมดนี้ แม้หนทางจะยังอีกยาวไกล อย่างน้อยที่สุด เงินเฟ้อที่ Peak จะเป็นข่าวดีแรกที่นำไปสู่การคลี่คลายวิกฤติ Perfect Storm ครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo