Business

ชาวไร่อ้อยเช็คด่วน!! รัฐไฟเขียวชดเชยดอกเบี้ย-หนุนแหล่งเงินทุน อะไรบ้าง

ผู้ปลูกไร่อ้อยเฮ!! อนุมัติโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ชาวไร่อ้อย ปี 256532567 สนับสนุนแหล่งเงินทุน 6,000 ล้านบาท

อ้อยนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สําคัญของประเทศไทย มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 10 ล้านไร่ใน 47 จังหวัด เกือบทุกภูมิภาคของประเทศ มีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยกว่า 400,000 ครัวเรือน

ชาวไร่อ้อย

สถานการณ์อ้อย ในปี 2564/65 จากการเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบ ตั้งแต่ช่วง ธ.ค.64 ถึงปัจจุบัน มีผลผลิตรวมกว่า 91 ล้านตัน ขณะที่อัตราการหีบอ้อยปัจจุบันเหลือราว 100,000 ตันต่อวัน

ดังนั้นคาดการณ์ว่า จะมีอ้อยเข้าหีบเมื่อสิ้นสุดการหีบทั้งหมดได้ราว 91.50 -92 ล้านตัน ซึ่งนับเป็นปริมาณการผลิตอ้อยที่เริ่มกลับมาสู่ระดับสูงอีกครั้ง เทียบกันในปี 2563/64 ปริมาณอ้อยอยู่ที่เพียง 66.67 ล้านตัน ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง

อย่างไรก็ตามในปีนี้ ราคาต้นทุนปรับตัวสูงขึ้น ทั้งราคาปุ๋ย สารเคมี หากราคาปุ๋ยยังไม่มีแนวโน้มลดต่ำลงก็จะยิ่งกระทบหนักขึ้น และเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวช่วงปลายปี 2565 นี้ต้องติดตามภาวะราคาน้ำมัน ค่าแรงต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยกดดันต่อรายได้เกษตรกรภาพรวม

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาและสนับสนุนแหล่งเงินทุนแก่ชาวไร่อ้อย รัฐบาลและ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จึงให้การสนับสนุนสินเชื่อ วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท ดังนี้

1. การชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับเกษตรกรรายคน ปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ที่ 6.50% ต่อปี แต่ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยจริงร้อยละ 2 ต่อปีโดยรัฐบาลชดเชยให้ 3% ต่อปี และ ธ.ก.ส.รับภาระในการช่วยเหลือเกษตรกร 1.50% ต่อปี

2. การชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน หรือสถาบันชาวไร่อ้อย ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย 4.875% ต่อปี โดยที่ผู้กู้จ่ายเพียง 2% ต่อปี รัฐบาลชดเชย 2% ต่อปี และส่วนที่เหลือ ธ.ก.ส.ช่วยเหลือ 0.875% ต่อปี

3. การช่วยเหลือสำหรับจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ประเภทรถบรรทุกและพ่วง โดยเรียกเก็บจากผู้กู้ 4% ต่อปี และ ธ.ก.ส.รับภาระในส่วนที่เหลือ (รัฐบาลไม่ต้องชดเชย)

อ้อย

นอกจากนี้ ยังอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณ เพื่อชดเชยดอกเบี้ยตามโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรไร่อ้อย สำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำ และซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อย

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ปี 2565-2567 ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนรูปแบบการเก็บเกี่ยวจากเดิมใช้การเผา ซึ่งส่งผลต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM2.5)

โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรไร่อ้อย มีเป้าหมาย จัดหาแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย การปรับพื้นที่ปลูกอ้อยเป็นแปลงใหญ่ และการจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ใช้ในการปลูกอ้อยและบริหารจัดการไร่อ้อยอย่างครบวงจร

วงเงินกู้แยกตามวัตถุประสงค์การกู้ 

1. เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย รายละไม่เกิน 500,000 บาท เช่น การขุดบ่อสระกักเก็บน้ำ การเจาะบ่อบาดาล การจัดทำระบบน้ำ

2. เพื่อปรับพื้นที่ปลูกอ้อย เป็นแปลงใหญ่ให้เหมาะสมกับเครื่องจักรกลการเกษตร รายละไม่เกิน 500,000 บาท ในอัตราไม่เกินไร่ละ 2,500 บาท

3. เพื่อจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น รถตัดอ้อย รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท รถคีบอ้อย รายละไม่เกิน 2 ล้านบาท รถแทรกเตอร์ รายละไม่เกิน 6 ล้านบาท มีระยะเวลาจ่ายเงินกู้ 3 ปี (1 ต.ค.2564 – 30 ก.ย.2567)

สำหรับระยะเวลาการชำระคืน แบ่งเป็นเงินกู้การบริหารจัดการน้ำและปรับพื้นที่ปลูกอ้อย ไม่เกิน 6 ปี ส่วนการซื้อเครื่องจักรกลชำระคืนไม่เกิน 8 ปี

ภายในโครงการ จะมีพื้นที่ปลูกอ้อยได้รับประโยชน์ประมาณ 1.5 ล้านไร่ ซึ่งในปี 2562-2564 ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 4,579 ล้านบาท โดยมีพื้นที่ปลูกอ้อยที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 8.4 แสนไร่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo