รฟม. เน้นทั้งคุณภาพ-การเงิน เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม รอบใหม่มูลค่ากว่า 1.4 แสนล้าน เริ่มขายซอง 27 พ.ค.-10 มิ.ย. 65 ยื่นซองประมูลได้ 27 ก.ค. 65 คาดลงนามสัญญาร่วมทุนปลายปี 65 ตัดข้อครหา ตั้งเกณฑ์ “ด้านเทคนิคสุดหิน” คะแนนต้องได้ 90 ถึงสู้ด้วยราคา
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ลงนามประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์- มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นลักษณะโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
การคัดเลือกดังกล่าว เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 อย่างเคร่งครัด โดยผู้ที่สนใจสามารถซื้อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents: RFP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้ในวันทำการของ รฟม. ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2565 เวลา 9.00 น. ถึง 15.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 5 อาคาร 1
โดยรฟม. และมีกำหนดการให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายในเดือนกรกฎาคม 2565 กำหนดเปิดซองข้อเสนอวันที่ 1 สิงหาคม 2565 เวลา 13.30 น. คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในปลายปี 2565 โดยประกาศเชิญชวนฯ (ฉบับทางการ) มีรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ ข้อกำหนดคุณสมบัติต่าง ๆ และขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน สามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://www.mrta.co.th หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 2716 4000 ต่อ 1519, 1589, 1590, 1591 ในวันและเวลาราชการ
รถไฟฟ้าสายสีส้ม เปิดประมูลรอบใหม่
โดย รฟม. ลงทุนด้านการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งโครงการฯ รวมทั้งดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย -มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และผู้ร่วมลงทุนลงทุนงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย งานออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบการทำงานของอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้า รวมทั้งงานให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาตลอดทั้งเส้นทาง รวมถึงเป็นผู้จัดเก็บค่าบริการ (PPP Net Cost) โดยมีระยะเวลาร่วมลงทุนแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 : การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา และการจัดหาระบบรถไฟฟ้า โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้า และทดลองเดินรถไฟฟ้าของโครงการฯ ส่วนตะวันออก เป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน ส่วนที่ 2 การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา และการออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้าและทดลองเดินรถไฟฟ้าของโครงการฯ ส่วนตะวันตก เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 ปี
ระยะที่ 2 : การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากวันที่เริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้าโครงการฯ ส่วนตะวันออก
ทั้งนี้คุณสมบัติทั่วไปของผู้ยื่นข้อเสนอ ต้องเป็นนิติบุคคลไทยจดทะเบียนในไทยไม่น้อยกว่า 3 ปี กรณีเป็นนิติบุคคลหลายรายรวมกันเป็นกลุ่ม ต้องมีนิติบุคคลไทยร่วมอย่างน้อย 1 ราย ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 35% ทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท
ตั้งคะแนนด้านเทคนิคสุดหินกันข้อครหา
สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการและหลักในการตัดสิน กำหนดข้อเสนอไว้ 4 ซอง ได้แก่ ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ซองที่ 4 ข้อเสนออื่น ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการ และการดำเนินงานของ รฟม.
การพิจารณาข้อเสนอที่ 2 ด้านเทคนิค ผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 1 จะได้รับการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 การประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค จะประเมินแบบคะแนนคิดเป็นร้อยละ คะแนนเต็มร้อยละ 100 แบ่งออกเป็น 4 หมวด ดังนี้
1. โครงสร้างองค์กร บุคลากร และแผนการดำเนินงาน ร้อยละ 10
2. แนวทางวิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคโยธา ร้อยละ 50
3. แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานระบบรถไฟฟ้า ร้อยละ 10
4. แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคบริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา ร้อยละ 30
ผู้ยื่นข้อเสนอต้องได้รับคะแนนการประเมินในแต่ละหมวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 และได้รับคะแนนการประเมินรวมของทุกหมวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของคะแนนรวมทั้งหมด มิฉะนั้นจะถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และจะส่งข้อเสนอซองที่ 3 และซองที่ 4 คืน
ไม่ผ่านด้านเทคนิคไม่เปิดราคา
เมื่อผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 ด้านการลงทุนและผลตอบแทน จะประเมินแผนธุรกิจ แผนการเงิน การระดมทุน การใช้จ่ายและแผนบริหารความเสี่ยง ผลตอบแทนที่จะให้แก่ รฟม. และ/หรือจำนวนเงินสนับสนุนค่างานโยธาส่วนตะวันตกที่ขอรับจาก รฟม. ผู้ยื่นข้อเสนอสามารถเสนอผลตอบแทนพร้อมขอรับเงินสนับสนุนหรือเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่เสนอทั้ง 2 ส่วนก็ได้
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ -ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)
สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 1.4 แสนล้านบาท เป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ค่างานโยธากว่า 9.6 หมื่นล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้าบริหารการเดินรถ ซ่อมบำรุง กว่า 3.2 หมื่นล้านบาท
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- รฟม. ชี้แจง คัดเลือกเอกชนร่วมทุน ‘โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม’
- จับตาประมูล ‘สายสีส้ม’ CK-BEM ลุ้นคว้างานแสนล้าน
- ราชกิจจาฯ เผยแพร่ คลังกู้เงิน ‘หมื่นล้าน’ สร้างรถไฟฟ้าสีส้ม