Business

อย่าอิจฉา!!เปิดธุรกิจแจกโบนัส

สถานการณ์เศรษฐกิจปี 2561 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ไม่ได้เติบโตแบบหวือหวา ค่อนไปทางชะลอตัวด้วยซ้ำ แต่ถึงกระนั้นภาคธุรกิจต่างๆ ก็ยังแจกโบนัส สร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงานกันอย่างคึกคัก ธุรกิจที่เติบโตก็จ่ายมากหน่อย ธุรกิจที่โตน้อยก็จ่ายน้อยหน่อย พอเป็นขวัญถุงให้ใช้จ่ายในช่วงปีใหม่

สำหรับธุรกิจดาวรุ่งค้างฟ้าอย่าง “ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์” แล้วต้องบอกว่า “โบนัส” เป็นเงินพิเศษที่มาตามนัดเป็นประจำต่อเนื่องมาหลายปี ซึ่งมากน้อยต่างกันไปตามผลงาน ตัวอย่างปี 2560 ธุรกิจอสังหาฯ ค่ายดังเจ้าพ่อคอนโดแนวรถไฟฟ้าอย่าง บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ มีการจ่ายโบนัสให้พนักงานที่ Top Performance สูงสุดถึง 14 เดือน! นี่เรื่องจริงนะไม่ได้โม้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ 14 เดือน ได้เฉพาะคนที่ผลงาน Out Standing จริงๆ เรียกว่ารับทรัพย์อู้ฟู่ ซื้อบ้าน-ถอยรถกันได้เลยทีเดียว ส่วนคนที่ผลงานไม่โดดเด่นอะไร ก็รับไปขั้นต่ำ 2 เดือน ซึ่งก็ไม่เลวร้าย ถือว่ายังดีกว่าหลายๆ อุตสาหกรรม

โบนัสอสังหาฯ ปี 61

มาดูปีนี้กันบ้าง The Bangkok Insight ได้ทำการสำรวจเบื้องต้น จากผู้บริหารและพนักงานระดับหัวหน้างาน ในบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ต่างๆ พบว่ากลุ่มอสังหาฯ ยังคงจ่ายโบนัสกันคึกคักไม่แพ้ปีที่ผ่านมา แต่พบว่าบางบริษัทจ่ายน้อยลง ด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป ส่วนใหญ่การจ่ายโบนัสจะอ้างอิงกับผลประกอบการ ยอดขาย กำไร ผลงานของบริษัทและพนักงาน ในบางบริษัทปีนี้ยอดขายยอดโอนไม่ดี ก็ปรับลดโบนัสลงตามสภาวะตลาด แต่ถึงอย่างไรก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ต่ำจนเกินไป ในระดับค่าเฉลี่ยราว 4-5 เดือน หรือต่ำที่สุด 2 เดือน ส่วนยอดสูงสุด หลายบริษัทยังคงปิดเงียบเพราะเกรงว่าจะเกิดการนำไปเปรียบเทียบกัน

โดยบมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ เผยว่าในปี 2561 บริษัทจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงาน 4 เดือน ซึ่งปีนี้ถือว่าน้อยหากเทียบย้อนกลับเมื่อ 5-6 ปีก่อน แอล.พี.เอ็น.เคยจ่ายโบนัสสูงสุด 12 เดือน ทั้งนี้ เนื่องจากภววะตลาดอสังหาฯทรงตัว ประกอบกับองค์กรมีขนาดใหญ่ขึ้น ค่าตอบแทนพนักงานขยับตัวสูงขึ้น จึงทำให้การจ่ายโบนัสลดลง

ด้านบริษัทพฤกษา โฮลดิ้ง ผู้นำตลาดที่เคยครองแชมป์จ่ายโบนัสสูงสุดในกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ ยังคงปิดเงียบเรื่องโบนัสปี 2561 โดยนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท-พรีเมียม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยังไม่ประกาศและยังไม่สะดวกให้รายละเอียดในขณะนี้

“ของพฤกษายังบอกไม่ได้เพราะมีความแตกต่างเรื่องผลงานที่ต่างกัน ตัวเลขสูงจะมีปัญหา” นายประเสริฐ ย้ำ อย่างไรก็ตามปีก่อนหน้านี้ บมจ.พฤกษาฯ จ่ายโบนัสในค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 6 เดือน อาจสูงหรือต่ำกว่านี้แล้วแต่ผลงานเป็นรายบุคคล

ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5 เดือนจ่ายต่ำสุด 2 เดือน

ด้านบริษัทอสังหาฯรายเล็กนอกตลาดหลักทรัพย์ฯอย่าง บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ เผยว่าปีนี้กานดากำหนดจ่ายโบนัสราว 4-6 เดือนขึ้นอยู่กับผลงาน ซึ่งเป็นอัตราใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ที่จ่ายโบนัสอยู่ประมาณ 4-6 เดือนเช่นเดียวกัน หรือเฉลี่ยประมาณ 5 เดือน ไม่มากหรือน้อยไปกว่าเดิม

แต่ถ้าดูจากผลดำเนินงานปีนี้ นายอิสระ กล่าวว่าผลประกอบการบริษัทดีกว่าปี 2560 พอสมควร ยอดโอนบ้านเพิ่มขึ้นยอดขายก็เพื่มขึ้น ทำกำไรได้เพิ่มขึ้นราว 5% แต่ที่จ่ายโบนัสเท่าเดิมเพราะต้องเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงตลาดในปี 2562 ด้วย เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ต้องจับตามอง

นายอิสระ กล่าวว่า แม้ปี 2562 จะมีปัจจัยลบอยู่บ้างแต่ก็คงไม่ส่งผลกระทบมากนัก เช่น มาตรการควบคุมสินเชื่อ กำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำสำหรับการซื้ออสังหาฯหลังที่สอง ทั้งบ้านและคอนโดอยู่ที่ 10-20% พอเริ่มใช้จริงก็คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบมาก ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ เช่นเดียวกับผู้ซื้อก็คงต้องปรับตัว เตรียมความพร้อมทางการเงินก่อนจะซื้อบ้าน เป็นรูปแบบที่เหมาะสมขึ้น

ส่วนลูกค้าของการดาฯ ในปีนี้หลังจากที่ธนานาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศมาตรการออกมา บริษัทได้ย้อนไปดูกลุ่มลูกค้าพบว่า ลูกค้าบ้านกานดาฯกว่า 88% เป็นลูกค้าซื้อบ้านหลังแรกเพื่ออยู่อาศัยจริง ที่เหลือ 12 % เป็นการซื้อหลังที่สอง แบ่งได้เป็นสองกลุ่ม ดังนี้

รายที่ซื้อเป็นหลังที่สองซึ่งซื้อสัญญาแรกเกิน 3 ปีแล้ว มีราว 6% ซึ่งกลุ่มนี้ต้องซื้อด้วยการวางเงินดาวน์ 10% และลูกค้าที่ซื้อสัญญาแรกยังไม่ถึง 3 ปี ซึ่งต้องวางเงินดาวน์ 20% ลูกค้ากลุ่มนี้ก็มีราว 6% เช่นเดียวกัน ถือว่าไม่มาก และฐานลูกค้านี้ น่าจะอ้างอิงเป็นฐานลูกค้าเดียวกับปี 2562 ได้

ข้อมูลดังกล่าว ทำให้บริษัทสามารถวางแผนปรับปรุงการผลิต เพื่อรองรับเทอมการชำระเงินใหม่ ที่ยืดเวลาผ่อนให้ได้เงินดาวน์ตามประกาศ ธปท. จากเดิมที่เน้นสร้างบ้านสร้างเสร็จแล้ว 70% ก่อนขายหรือสร้างเสร็จ 100% พร้อมโอน ก็ปรับมาเป็นการขายบ้านสั่งสร้าง คือสร้างไปขายไป ให้ลูกค้าผ่อนดาวน์นานขึ้น ก็จะสามารถทำได้ตามประกาศธปท. ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ซึ่งมาตรการ LTV ใหม่ จะบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2562 มีเวลามากพอที่ผู้ประกอบการและลูกค้าจะปรับตัวได้

อนันดาฯท็อปฟอร์มจ่ายสูงสุด 14 เดือน

ส่วนบริษัทอสังหาฯรายอื่นๆ ยังคงมีการเตรียมจ่ายโบนัสเช่นเดียวกัน โดยส่วนใหญ่จะจ่ายสิ้นเดือนมกราคม บางรายก็สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ แล้วแต่บริษัทกำหนด เช่น บมจ.อนันดา ปีนี้โบนัสกำหนดจ่ายเดือนมีนาคม ในเบื้องต้นทราบว่าได้ขั้นต่ำ 2 เดือน แต่สูงสุดยังไม่ทราบจะประกาศช่วงเดือนมีนาคมเลย แต่ในปี 2560 ที่ผ่านมา อนันดาฯจ่ายโบนัสพนักงานที่ผลงานดีที่สุด สูงถึง 14 เดือน ซึ่งถ้าดูจากผลประกอบการปีนี้ถือว่าดี ไตรมาส 3 ที่ผ่านมาสามารถทำยอดโอนนิวไฮได้ถึง 11,837 ล้านบาท กำไรสุทธิไตรมาส 3 ปีนี้ 976 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาส 3/ 2560 ถึง  593% หากประเมินจากผลประกอบการบริษัทแล้ว เชื่อว่าโบนัสของบมจ.อนันดาฯ ปีนี้ไม่น่าจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา สูงสุดอาจได้ถึง 14 เดือนเช่นกัน

บริษัทอสังหาฯ ระดับกลางในตลาดหลักทรัพย์ อย่างบมจ.อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท ยังไม่ประกาศเช่นเดียวกันแต่คาดว่าจะจ่าย 2 เดือน ลดลงจากปี 2560 ที่จ่ายอยู่ 3.5 เดือน ขณะที่ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ประกาศจ่ายโบนัส 2 เดือน และ บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น แม้จะยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ในเดือนธันวาคมนี้จะจ่ายก่อน 1 เดือน ที่เหลือจ่ายต้นปีหน้าคาดว่าใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ซึ่งจ่ายโบนัส 4 เดือนขึ้นไป แล้วแต่ผลงาน โดยส่วนใหญ่กำหนดจ่ายโบนัสในช่วง เดือน มกราคม-มีนาคม 2562

โบนัสรัฐวิสาหกิจ ปี 61

รัฐวิสาหกิจ-ค่ายรถ-แบงก์ จ่าย ‘แจ่ม’ 

ทางด้าน รัฐวิสาหกิจ ที่แจกโบนัสอู้ฟู่เป็นอันดับ 1 ก็คือบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่ให้โบนัสในอัตรา 7.75 เดือน โดย นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ให้เหตุผลว่า ปีนี้บริษัทมีกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และยังไม่มีการขยายสนามบิน ส่งผลให้พนักงานทำงานหนักมากขึ้น จึงให้โบนัสมากกว่าปีก่อน 0.25 เท่าของเงินเดือน

ด้านบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แจกโบนัส 7.5 เดือน ส่วนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีกระแสข่าวว่าจะแจกโบนัส 5 เดือน แต่ กทพ. ยังติดประเด็นเรื่องการจ่ายค่าชดเชยให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จำนวน 4,200 ล้านบาท จึงต้องรอสรุปอีกครั้งว่าโบนัสจะเป็นเท่าใด

บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ยังแจกโบนัส 4 เดือนเท่าปีก่อน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่ที่ 3.75 เดือน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อยู่ที่ 2 เดือน กรุงเทพมหานคร (กทม.) 1.5 เดือน และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) อยู่ที่ 1 เดือน

โบนัสค่ายรถ-ชิ้นส่วน ปี 61

สำหรับค่ายยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นอีกอุตสาหกรรมที่จ่ายโบนัส “หนัก” มาต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจอู้ฟู่ และที่สร้างสถิติสูงสุด คือ นโยบายรถคันแรก ในปี 2554  ทำให้ค่ายรถมียอดขายถล่มถลาย โบนัสสูงสุดจ่ายกันที่ 16-17 เดือน

มาปีนี้ค่ายรถและชิ้นส่วนยังเป็นกลุ่มที่จ่ายโบนัสเหมือนทุกปี แต่อัตราลดลงกว่าในยุคเศรษฐกิจเฟืองฟู  ที่ประกาศออกมาแล้ว อย่าง  โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย อยู่ที่ 7.5 เดือน  ฮอนด้า ออโตโมบิล จ่ายเฉลี่ย  7.5 เดือน ,นิสสัน มอเตอร์ จ่าย 6.3 เดือน ,ค่ายเอ.พี.ฮอนด้า จ่าย  7.5 เดือน,  มิตซูบิชิ อิเลคทริค ไทย ออโต้-พาร์ท จ่าย 8.5 เดือน

ขณะที่กลุ่มธนาคาร นำโดย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จ่ายโบนัสอยู่ที่  7 เดือน ส่วนออมสิน อยู่ที่ 6 เดือน, กสิกรไทย 2 เดือน, ไทยพาณิชย์ 2 เดือน

โบนัสธนาคาร ปี 61

ธุรกิจสื่อโบนัสลด-งดจ่าย 

สำหรับธุรกิจสื่อต้องยอมรับว่าในกลุ่มสื่อดั้งเดิมอย่าง “สิ่งพิมพ์” ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลต่อพฤติกรรมเสพสื่อสิ่งพิมพ์ลดลง ทำให้เม็ดเงินโฆษณาอยู่ในภาวะถดถอย

ในอดีตกลุ่มสื่อหนังสือพิมพ์ ที่จ่ายโบนัสสูงสุด ต้องยกให้ 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ “ไทยรัฐและเดลินิวส์” ในอัตราสูงสุด 6 เดือน แต่ในช่วง 5 ปีหลังมีการปรับลดลงจากภาวะเศรษฐกิจและเม็ดเงินโฆษณาสิ่งพิมพ์ซบเซา  ปี 2561 ทั้ง 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ยังประกาศจ่ายโบนัส ที่เฉลี่ย 1-1.5 เดือน  ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ “งดจ่าย” เช่นเดียวกับปีก่อน

โบนัสธุรกิจสื่อ ปี 61

ฟากธุรกิจสื่อทีวี การเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นหลังจาก “ทีวีดิจิทัล” เริ่มออกอากาศในปี 2557 ในกลุ่มฟรีทีวี รายเดิมที่ครองแชมป์จ่ายโบนัส  เมื่อมีช่องทีวีดิจิทัลมากขึ้น เม็ดเงินโฆษณาถูกแชร์ไปยังช่องใหม่ ทำให้รายได้ในกลุ่มฟรีทีวีเดิมลดลง  “ช่อง 3” ที่แบกต้นทุนทีวีดิจิทัล 3 ช่อง เผชิญปัญหาขาดทุนในปี 2560 และเป็นปีแรกที่ไม่จ่ายโบนัส เช่นเดียวกับปีนี้  ขณะที่ช่อง 7 ยังมีลุ้นโบนัส แต่อัตราลดลงเมื่อเทียบกับยุคก่อนทีวีดิจิทัล

ส่วนทีวีดิจิทัล “ช่องใหม่” มีโบนัสให้เห็นเช่นกัน “เวิร์คพอยท์” เป็นช่องที่จ่ายสูงสุด ปี 2560 สูงสุดอยู่ที่ 3 เดือน ปีนี้มีลุ้นอีกเช่นกันตัวเลขน่าจะใกล้เคียงปีก่อน ในยุคก่อนทีวีดิจิทัล เวิร์คพอยท์เคยจ่ายโบนัสสูงสุด 6 เดือน   ส่วน “โมโน 29” อีกช่องทีวีดิจิทัลกลุ่มผู้นำ ตั้งแต่เริ่มธุรกิจทีวีดิจิทัล มีจ่ายโบนัสทุกปีเช่นกัน ปีก่อนอยู่ที่ 1-1.5 เดือน ปีนี้มีลุ้นโบนัสเช่นเดิม

Avatar photo