Business

ร้านค้าโชห่วยไม่ตาย ผลสำรวจเผย เกษตรกร คนรายได้ไม่สูง ยกเป็นร้านประจำ

พาณิชย์เปิดผลสำรวจ ร้านค้าโชห่วย ขาประจำเกษตรกร ผู้มีรายได้ไม่สูง เหตุเป็นร้านใกล้บ้าน มีสินค้าแบ่งขาย คุ้นเคย พร้อมช่วยยกระดับร้านโชห่วยต่อเนื่อง

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า จากผลสำรวจสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับร้านค้าโชห่วย ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 จำนวน 8,428 คน ทุกอำเภอทั่วประเทศ ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 87.53% คิดว่าร้านโชห่วยมีความจำเป็นต่อการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคสำหรับการดำรงชีวิต และเห็นความจำเป็นของร้านสะดวกซื้ออยู่ที่ 88.02% ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ อยู่ที่ 77.65%

ร้านค้าโชห่วย

ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกร และผู้ที่มีรายได้ไม่สูงมากนัก จะซื้อสินค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ และค่อนข้างบ่อยในร้านสะดวกซื้อและร้านโชห่วย 2-3 วันต่อสัปดาห์ ภายในวงเงินไม่เกิน 300 บาทต่อครั้ง ส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่จะเป็นการซื้อสินค้าไม่เกินเดือนละครั้ง และวงเงินเกินกว่า 300 บาทขึ้นไป

สำหรับร้านจำหน่ายสินค้าที่ผู้บริโภคนิยม พบว่า ร้านโชห่วยเป็นที่นิยมของผู้บริโภค อันดับ 2 คิดเป็น 35.19% รองจากร้านสะดวกซื้อที่ผู้บริโภคนิยมสูงสุด คิดเป็น 47.76% และซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ เป็นที่นิยมอันดับ 3 คิดเป็น 17.06%

ส่วนเหตุผลในการเลือกใช้บริการร้านโชห่วย เนื่องจากเห็นว่า มีข้อดี คือ สะดวกในการเดินทาง ราคาถูก มีสินค้าแบ่งขาย มีความคุ้นเคย อย่างไรก็ตาม มีข้อบกพร่องที่ควรปรับปรุง คือ สินค้าไม่หลากหลาย สินค้ามีจำนวนน้อย การจัดวาง และความสะอาด รวมถึงการให้บริการ

รณรงค์ พูลพิพัฒน์

กระทรวงพาณิชย์ได้มีนโยบายผลักดัน และส่งเสริมเพื่อยกระดับร้านค้าโชห่วย ร้านค้าชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการจัดหาสินค้าให้มีความหลากหลาย มีคุณภาพ และต้นทุนต่ำ รวมถึงการให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการ การอำนวยความสะดวก และการให้บริการ เพื่อให้ตรงกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

สอดคล้องกับผลการสำรวจจุดบกพร่อง และสิ่งที่ร้านโชห่วย ร้านค้าชุมชนควรปรับปรุง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปอย่างมาก และการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกับร้านสะดวกซื้อที่เป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการพัฒนาและส่งเสริม เพื่อยกระดับร้านโชห่วยผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการสร้างมาร์ทโชห่วย โครงการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่  รวมทั้งส่งเสริมการตลาด ร่วมกับสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย

ทั้งนี้ มุ่งให้ร้านค้าโชวห่วยสามารถอยู่คู่กับคนไทยได้อย่างยาวนาน และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้เข้มแข็ง และยังมีส่วนช่วยลดค่าครองชีพให้กับผู้บริโภคได้อย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo