Opinions

ส่อง ‘โครงสร้างธุรกิจภูมิภาค’ พบ แข่งขันสูง-เหลื่อมล้ำเยอะ

Avatar photo

“ภาคธุรกิจ” นับเป็นฟันเฟืองสำคัญ ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน และในช่วงที่ผ่านมา ภาคธุรกิจยังได้เผชิญกับความท้าทายหลายประการ

อย่างไรก็ตาม การศึกษาโครงสร้างธุรกิจในมุมมองของภูมิภาค ยังมีไม่มากนัก บทความนี้จึงขอนำเสนอพัฒนาการของโครงสร้างธุรกิจในแต่ละภูมิภาค โดยอาศัยข้อมูลผลสำรวจสำมะโนอุตสาหกรรม และข้อมูลนิติบุคคลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแ ละเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น

ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบนโยบาย ที่จะช่วยพัฒนาธุรกิจในภูมิภาคได้อย่างเหมาะสม และตรงจุดในระยะต่อไป

shutterstock 1666739179

ทำความรู้จักโครงสร้างธุรกิจในภูมิภาค

60% กระจายตัวอยู่ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ แต่กลับมีการจ้างงานเพียง 40%

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนธุรกิจในไทย ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดปี 2560 พบว่า ไทยมีจำนวนธุรกิจรวมประมาณ 2.5 ล้านแห่ง ซึ่ง 60% ของธุรกิจทั้งหมดกระจายตัวอยู่ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้

ภาคอีสาน เป็นภาคที่มีจำนวนธุรกิจมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่น หรือคิดเป็นประมาณ 30% ของธุรกิจทั้งหมด ส่วนหนึ่งตามจำนวนประชากรที่มี 21.6 ล้านคน คิดเป็น 34% ของทั้งประเทศ และมีขนาดพื้นที่ประมาณ 1/3 ของประเทศ (ข้อมูลปี 2564)

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาด้าน การจ้างงาน ของภาคธุรกิจ พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การจ้างงานปรับเพิ่มขึ้นจาก 9.9 ล้านคนในปี 2550 เป็น 11.1 ล้านคนในปี 2560 สอดคล้องกับจำนวนธุรกิจ

แต่การจ้างงานในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้รวมกันกลับอยู่ที่เพียง 4.4 ล้านคน หรือคิดเป็น 40% ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับการจ้างงานของกรุงเทพฯ และปริมณฑล

p1 p2

ในด้าน ขนาดธุรกิจ บทความนี้พิจารณาใน 2 มิติ ได้แก่ มิติการจ้างงาน และ มิติรายได้ โดยในมิติการจ้างงาน พบว่า ในปี 2560 ธุรกิจมากกว่า 70% ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ เป็นธุรกิจขนาดย่อย หรือมีขนาดเล็กที่สุด ในนิยาม SMEs กล่าวคือ เป็นธุรกิจที่มีการจ้างงานน้อยกว่า 5 คนต่อแห่ง ตามกำลังซื้อและความต้องการบริโภคของประชาชนในภูมิภาค ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าพื้นที่อื่น ๆ เช่น ร้านโชห่วยตามตึกแถว ร้านค้าในตลาดที่กระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในตัวเมืองและชนบท

หากพิจารณาจากมิติรายได้ พบว่า ธุรกิจในทั้ง 3 ภูมิภาคดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก คือ เป็นธุรกิจที่มีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี (หรือไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี สำหรับธุรกิจการผลิต)

สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีรายได้มากกว่า 300 ล้านบาทต่อปี (หรือเกิน 500 ล้านบาทต่อปีสำหรับธุรกิจการผลิต) ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ

p32

p42
การกระจายตัวของธุรกิจ จำแนกตามขนาดธุรกิจ ยากรายได้ปี 2560

นอกจากนี้ หากพิจารณารูปแบบในการดำเนินธุรกิจ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจในทุกพื้นที่มากกว่า 80% มีการดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ที่มีสัดส่วนการทำธุรกิจรูปแบบดังกล่าวสูงถึงกว่า 90%

ธุรกิจประเภทนี้ในทั้ง 3 ภูมิภาค มีจำนวนแรงงานในสัดส่วนสูงตามจำนวนธุรกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงภาคกลาง ส่วนหนึ่งจากธุรกิจในภูมิภาคส่วนใหญ่มีขนาดเล็กจากที่กล่าวไปข้างต้น

หากจดทะเบียนธุรกิจในรูปแบบอื่น ๆ มีต้นทุนสูง และไม่คุ้มกับผลการดำเนินธุรกิจ เช่น ต้นทุนการจดทะเบียน ต้นทุนด้านภาษี และต้นทุนการดูแลแรงงาน

p5

ในส่วนของ ผลการดำเนินกิจการ พบว่า

  • ธุรกิจการผลิต ในปี 2560 กำไร 57% กระจุกตัวในภาคกลาง โดยธุรกิจที่ทำกำไรสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่  ธุรกิจผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม ผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่
  • กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีกำไรอยู่ที่ 27% จากกลุ่มธุรกิจสำคัญ ได้แก่ ธุรกิจเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ และบรรจุภัณฑ์พลาสติก
  • กำไรรวมของธุรกิจในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ มีเพียง 16% ซึ่งกำไรหลักมาจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร ที่ตั้งอยู่ใกล้วัตถุดิบทางการเกษตร สะดวกในการขนส่งและแปรสภาพ เช่น ธุรกิจโรงสีข้าว โรงงานน้ำตาล และโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง ในภาคเหนือ และภาคอีสาน และการผลิตยางพารา ยางแปรรูป และปลากระป๋องในภาคใต้ เป็นต้น

ในทางกลับกัน ธุรกิจที่ทำกำไรได้น้อยที่สุด 3 อันดับแรกในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวกับสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะกลุ่มผลิตแบบ Mass Product ที่เสียตลาดส่งออกให้กับจีน ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ตามนโยบายรณรงค์งดการสูบบุหรี่ การกลั่นสุรา การซ่อมผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ และการผลิตเครื่องดนตรี จากการแข่งขันสูงของธุรกิจที่มีจำนวนมากในท้องถิ่น

p6

สถานการณ์การแข่งขันของธุรกิจในภูมิภาค

ธุรกิจในภูมิภาคส่วนใหญ่ มีการแข่งขันค่อนข้างสูง

ในด้านการแข่งขันของภาคธุรกิจ พบว่า ในปี 2560 ธุรกิจในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ที่มีจำนวนธุรกิจมาก 10 อันดับแรก ส่วนใหญ่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจสิ่งทอ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้และไม้ก๊อก

เนื่องจากธุรกิจในภูมิภาคผลิตสินค้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกันและเป็น Mass Product ซึ่งการแข่งขันที่สูงส่งผลต่อการทำกำไรของภาคธุรกิจ สอดคล้องกับข้อมูลจากการศึกษาก่อนหน้า ที่ธุรกิจเหล่านี้สร้างกำไรได้ไม่มากนัก

ขณะเดียวกันธุรกิจที่มีการแข่งขันต่ำ ได้แก่ ธุรกิจเครื่องดื่ม ในภาคเหนือและภาคอีสาน สามารถทำกำไรได้สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของแต่ละภูมิภาค ส่วนหนึ่งเป็นธุรกิจรายใหญ่ของนักลงทุนส่วนกลาง ที่มาตั้งในภูมิภาค ด้วยข้อได้เปรียบด้านคุณภาพน้ำที่เหมาะสม และเพื่อเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปยังภาคต่าง ๆ ของประเทศ

p7

ส่องความเปราะบางของธุรกิจในภูมิภาค

ธุรกิจในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ มีความเปราะบางเพิ่มขึ้น จากความสามารถในการทำกำไรที่ลดลง และมีหนี้สินเพิ่มขึ้น

มิติทางการเงิน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ธุรกิจในภูมิภาคในภาพรวม มีความสามารถในการทำกำไรลดลง สะท้อนจาก Return to Assets (ROA) ในหลายจังหวัด ที่ปรับลดลง

นอกจากนี้ ธุรกิจเกินกว่าครึ่งหนึ่ง มีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความเปราะบางทางการเงินที่เพิ่มขึ้น และหากพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดสำคัญที่มีความเปราะบางทางการเงินเพิ่มขึ้น ได้แก่ นครราชสีมา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และลำปาง

เมื่อพิจารณาเป็นรายธุรกิจ พบว่า ธุรกิจสำคัญในภาพรวมมีความสามารถ ในการทำกำไรลดลงในธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง ที่พักและร้านอาหาร และธุรกิจการผลิต โดยเฉพาะการแปรรูปสินค้าเกษตร ส่วนหนึ่งเป็นผลจากธุรกิจส่วนใหญ่เป็นธุรกิจต้นน้ำ และกลางน้ำ ซึ่งเน้นการขายเป็นเชิงปริมาณ และราคาไม่สามารถปรับขึ้นได้มาก จากการแข่งขันกับต่างประเทศ และการกำหนดราคาขายภายในประเทศ ขณะที่การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับดีขึ้น

ขณะที่ธุรกิจสำคัญที่มีอัตราหนี้สินต่อทุนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก ที่พักและร้านอาหาร โดยเฉพาะในภาคใต้ อันเนื่องมาจากการขยายการลงทุนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงที่ผ่านมา สำหรับธุรกิจการผลิตความเปราะบางทางการเงินปรับเพิ่มขึ้นในธุรกิจโรงสีและเซรามิค เป็นสำคัญ

p8902

มิติการลงทุนจากต่างประเทศ สะท้อนด้านโอกาสจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการจ้างงาน พบว่า 97% กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงภาคกลาง ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้รวมกันมีเพียง 3% และการลงทุนดังกล่าวยังกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดใหญ่ของแต่ละภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของนักลงทุนสัญชาติญี่ปุ่น จีน เกาหลี และมาเลเซีย

  • ภาคเหนือ

มีเงินลงทุนจากต่างประเทศประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยกว่า 50% เป็นการลงทุนจากญี่ปุ่นและจีน ซึ่งกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน เนื่องจากความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน และสิทธิประโยชน์ทางภาษี และธุรกิจการค้า อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจในภาคบริการ ในจังหวัดเชียงใหม่ ตามทิศทางการเติบโตของทุนจีน

  • ภาคอีสาน

มีเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับภาคเหนือ และภาคใต้ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการลงทุนจากญี่ปุ่น เกาหลีและจีน ซึ่งกระจุกตัวในอุตสาหกรรมการผลิต บริเวณจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ที่มีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามการส่งเสริมการลงทุน Zone 3 โดยที่ไม่ไกลจาก กรุงเทพฯ และท่าเรือน้ำลึกมากนัก

  • ภาคใต้

มีเงินลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด เมื่อเทียบกับภาคเหนือและภาคอีสานที่ 4.3 หมื่นล้านบาท โดยกว่า 1 ใน 4 ของเงินลงทุนจากต่างประเทศมาจากมาเลเซีย ซึ่งเงินทุนส่วนหนึ่ง กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจภาคบริการ อสังหาริมทรัพย์ และการค้า ในบริเวณจังหวัดภูเก็ต และสุราษฏร์ธานี ที่เงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากทวีปยุโรป และจีน ในช่วงหลัง ตามทิศทางการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยว

เงินทุนอีกส่วนหนึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตบริเวณพื้นที่จังหวัดสงขลา ตามธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร โดยเฉพาะยางพารา

p112

p12

สรุปและข้อเสนอแนะ

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างธุรกิจในแต่ละภูมิภาคในภาพรวมมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก โดยธุรกิจส่วนใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงภาคกลาง เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ทำกำไรได้ค่อนข้างดี และมีการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่าภาคอื่นโดยเปรียบเทียบ

ขณะที่ธุรกิจในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น SMEs ขนาดเล็ก ดำเนินธุรกิจส่วนตัว เป็นแหล่งการจ้างงานสำคัญ แต่ทำกำไรได้น้อย เนื่องจากมีการแข่งขันสูง อีกทั้งยังมีความเปราะบางจากหนี้สินที่เพิ่มขึ้น

จากข้อมูล และการศึกษาข้างต้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจในภูมิภาคโดยเฉพาะในภาคเหนือ อีสาน และใต้ ต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ และมีความเปราะบางในหลายจุด

ดังนั้น การส่งเสริมสภาพแวดล้อม และการลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ จะเอื้อให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อย สามารถปรับตัวเพื่อรองรับความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งแข่งขันได้มากขึ้น รวมถึง การเสริมทักษะให้แก่ผู้ประกอบการ และแรงงานอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการสนับสนุนการรวมกลุ่มของธุรกิจขนาดย่อยในภูมิภาค จะช่วยเพิมความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจ

ทั้งหมดนี้ จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการทำธุรกิจระหว่างพื้นที่ รวมทั้ง ส่งเสริมให้เกิดการเติบโตอย่างมาส่วนร่วม ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจในระยะยาว

บทความโดยสำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

  • ดวงทิพย์ ศิริกาญจนารักษ์
  • อนุสรา อนุวงค์
  • จิรวัฒน์ ภู่งาม
  • กฤษณี พิสิฐศุภกุล

อ่านข่าวเพิ่มเติม