Business

มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยปี 64 คาดพุ่งแตะ 4 ล้านล้าน โควิดหนุนค้าปลีก พ่นพิษท่องเที่ยว

ETDA เผยมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทย ปี 2564 คาดพุ่งแตะ 4.01 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 อยู่ที่ 3.78 ล้านล้านบาท ชี้โควิด-19 หนุนค้าปลีกขายผ่านออนไลน์เฟื่อง แต่กระทบหนักภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า (ETDA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยผลสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2564 คาดการณ์ว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยในปี 2564 เติบโตอยู่ที่ 4.01 ล้านล้านบาท หรือเติบโต 6.11% จากปี 2563 มีมูลค่าเท่ากับ 3.78 ล้านล้านบาท

มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทย

นอกจากนี้ ยังคาดว่า มูลค่าอีคอมเมิร์ซ จะมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากการฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยมีสัดส่วนของมูลค่าอีคอมเมิร์ซในรูปแบบ B2C มากที่สุด คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.17 ล้านล้านบาท B2B มีมูลค่ากว่า 0.84 ล้านล้านบาท และ B2G มีมูลค่า 0.77 ล้านล้านบาท

สำหรับปี 2563 มูลค่าอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ 3.78 ล้านล้านบาท หดตัวเล็กน้อย เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งลดลงจาก ปี 2562 ที่มีมูลค่า 4.05 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 6.68% เนื่องจาก มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศและภายในประเทศ รวมถึงมาตรการ Work from Home ซึ่งสร้างผลกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก อุตสาหกรรมการขนส่ง และอุตสาหกรรมการผลิตเป็นอย่างมาก

ขณะที่อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยที่นิยมซื้อสินค้าและบริการออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

อีคอมเมิร์ซ 5 ปี

โควิด-19 กับมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทย 5 ประเด็นสำคัญ

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เกิดแนวโน้มที่สำคัญ อันสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซอย่างมีนัยสำคัญใน 5 ประเด็น ได้แก่

1.  พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ชีวิตติดกับดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซโตตามไปด้วย

2. การเติบโตของแพลตฟอร์ม Ride-Hailing โดยเฉพาะการส่งอาหารและการสินค้าอุปโภคบริโภค

3. การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพิ่มมากขึ้น

4. กลยุทธ์การส่งเสริมการขายสินค้าและบริการของแพลตฟอร์ม e-Marketplace ทั้งแคมเปญโปรโมชัน ส่วนลด จัดส่งฟรี รวมทั้งการใช้ข้อมูลลูกค้าบนแพลตฟอร์มให้เป็นประโยชน์

5. การขยายบริการใหม่ ๆ ของธุรกิจขนส่งสินค้า (Logistics) แบบครบวงจร รวมถึงบริการเกี่ยวกับคลังสินค้าและการจัดส่ง (Fulfilment)

อีคอมเมิร์ซโควิด

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มาตรการในการดูแลประชาชนของรัฐบาล ด้วยรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้การบริโภคของคนไทยเปลี่ยนไปด้วย

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA เปิดเผยว่า โควิด-19 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่หรือ New Normal ที่ ทำให้ผู้คนในสังคมใช้ชีวิตเปลี่ยนไป มีการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก และจำนวนผู้ประกอบการในช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้นมากมาย

ดังนั้น จึงส่งผลกระทบในเชิงบวก กับมูลค่าอีคอมเมิร์ซในบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง อุตสาหกรรมข้อมูลและข่าวสาร

อย่างไรก็ตาม จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศและภายในประเทศ กลับส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว อันเป็นธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจอันดับต้น ๆ ของประเทศ ซึ่งธุรกิจนี้อยู่ภายใต้อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก ส่งผลให้อัตราการเติบโตของมูลค่าอีคอมเมิร์ซในภาพรวม ปี 2563 ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า การประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซไม่ใช่ทางเลือก แต่ถือเป็นทางรอด สำหรับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน โดยเราเชื่อมั่นว่าผลการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวมของไทย

มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทย

B2C ครองแชมป์มูลค่าสูงที่สุดติดต่อกันปีที่ 3 ในอาเซียน

สำหรับปี 2562 ไทยยังคงครองแชมป์มูลค่า B2C สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนติดต่อกัน 6 ปีซ้อน โดยมีมูลค่า 55.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาเป็นมาเลเซีย 46.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อินโดนีเซีย 17.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เวียดนาม 10.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฟิลิปปินส์ 2.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสิงคโปร์ 2.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากนั้นในปี 2563 มูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ยังคงมีมูลค่าสูงที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่ 2 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 2.17 ล้านล้านบาท (57.39%) ในขณะที่ B2B มีมูลค่าการขายออนไลน์เท่ากับ 0.84 ล้านล้านบาท (22.14%) และ B2G มีมูลค่า 0.77 ล้านล้านบาท (20.47%)

สาเหตุที่ยอดขายออนไลน์ของผู้ประกอบการกลุ่ม B2B ลดลงเป็นอย่างมากในปีนี้ เกิดจากการที่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีการปรับตัวโดยขายสินค้าและบริการกับผู้บริโภคโดยตรง (Direct to Customer)

อี ค้าปลีก

มูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทย ปี 2563 รายอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก

  • อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง มีมูลค่า 1,434,663.54 ล้านบาท (47.70%)
  • อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก มีมูลค่า 463,784.88 ล้านบาท (15.42%)
  • อุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่า 460,220.36 ล้านบาท (15.30%)

พร้อมกันนี้ คาดการณ์มูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ปี 2564 ยังคงมีมูลค่าสูงที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 2.03 ล้านล้านบาท (50.59%) ในขณะที่ B2B มีมูลค่าการขายออนไลน์เท่ากับ 1.09 ล้านล้านบาท (27.24%) และ B2G มีมูลค่า 0.89 ล้านล้านบาท (22.17%)

มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทย ปี 2564 รายอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก 

  • อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง มีมูลค่า 1,628,488.05 ล้านบาท (52.14%)
  • อุตสาหกรรมข้อมูล ข่าวสาร และการสื่อสาร มีมูลค่า 477,293.12 ล้านบาท (15.28%)
  • อุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่า 476,328.08 ล้านบาท (15.25%)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo