Business

‘TCMC’ ปิดดีลซื้อ ‘ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์’ รุกตลาดอังกฤษ หลังรายได้ไตรมาสแรก ปี 64 พุ่ง 1.8 พันล้าน

TCMC ปิดไตรมาส 1/64 กวาดรายได้แตะ 1.8 พันล้านบาท แรงหนุนธุรกิจ “ออโตโมทีฟ-ลีฟวิ่ง” ยอดขายพุ่ง  ล่าสุด ปิดดีลซื้อกิจการค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์สัญชาติอังกฤษ รุกตลาดใหม่ รองรับเติบโตต่อเนื่อง

​นางสาวปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TCMC เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทในช่วงไตรมาสแรก ของปี 2564 นั้น มีรายได้จากการขาย และบริการ จำนวน 1,838.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้ 1,630.39 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.78 และมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 15.29 ล้านบาท ทำได้ดีกว่างวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 26.47 ล้านบาท ผลจากการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการต้นทุน และค่าใช้จ่ายเพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19

“สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2564 โรคระบาดโควิด-19 ยังคงมีผลกระทบต่อกิจการของบริษัท โดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุปูพื้น จากการที่ลูกค้าหลักของเราอยู่ในภาคการท่องเที่ยว และบริการ (hospitality) ได้แก่ โรงแรม กาสิโน โรงภาพยนตร์ สถานบันเทิง ศูนย์ประชุม ซึ่งยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19 และอาจยังไม่ฟื้นตัวได้ในเร็ววันนี้”

S 89227281

อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจพรม และผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ เริ่มมีทิศทางดีขึ้น ตามแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว และในส่วนของกลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ที่ยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

บริษัทยังได้ปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ให้มีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้นในทุก ๆ ด้าน และการประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจ ทำให้มั่นใจได้ว่า เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ TCMC จะมีความพร้อม และกลับมาอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแล้ว ในแง่กลยุทธ์ TCMC ยังได้ขยายฐานการผลิต และช่องทางการจัดจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน บริษัทได้เข้าซื้อโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ ที่ได้ปิดตัวลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งได้มาช่วยเพิ่มกำลังการผลิต ในช่วงที่ปริมาณคำสั่งซื้อที่เข้ามามากเป็นประวัติการณ์

ในปีนี้ บริษัทยังได้เข้าซื้อกิจการแบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติอังกฤษ “Arlo & Jacob” ซึ่งมีโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ 5 แห่งอยู่ในทำเลที่โด่ดเด่นทั่วประเทศอังกฤษ ซึ่งการเข้าซื้อครั้งนี้ จะทำให้ TCMC มีช่องทาง เข้าถึงลูกค้ากลุ่มผู้บริโภคโดยตรง (B2C)  และทำให้เข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น  เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

7888

ร้านค้าปลีก Arlo & Jacob ยังมีช่องทางการขายแบบออนไลน์ ซึ่งจะเป็นการปรับรูปแบบธุรกิจ เข้าสู่กระแสความนิยมในปัจจุบัน และส่งเสริมกลยุทธ์ของธุรกิจที่มีอยู่ ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในทุกมิติ

ในไตรมาส 1/2564 กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ (TCM Living) มีรายได้สูงขึ้นร้อยละ 37.23 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยังมีความต้องการซื้อต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา แม้การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว จะทำให้รัฐบาลอังกฤษ ต้องดำเนินมาตรการควบคุม และป้องกัน ที่รวมถึง การให้กิจการค้าปลีก ที่ไม่ใช่ธุรกิจจำเป็น หยุดดำเนินงานชั่วคราว และเพิ่งกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้งเมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา

กระนั้นก็ตาม ผลตอบรับที่ดีจากลูกค้า ที่เป็นจ้าของร้านค้าปลีกต่าง ๆ ประกอบกับคำสั่งซื้อทางออนไลน์ ในช่วงล็อกดาวน์ ทำให้เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 1 กลุ่มธุรกิจยังสามารถทำยอดขายได้ 1,311.62 ล้านบาท สูงขึ้นกว่างวดเดียวกันของปีก่อนถึง 37.23% แต่เนื่องจากกลุ่มธุรกิจยังคงประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนโฟม ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น เและการขนส่งระหว่างประเทศที่ยังคงเป็นปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังไม่สามารถควบคุมการบริหารต้นทุนได้ดีนัก

อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจ ได้เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่าย รวมถึงการได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอังกฤษ ทำให้ค่าใช้จ่ายบริหารลดลงร้อยละ 35.01 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้หลังจากหักค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ต้นทุนทางการเงิน ค่าภาษี และส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์มีผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 7.27 ล้านบาท

ปัจจุบัน กลุ่มทีซีเอ็ม ลีฟวิ่ง มีแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ในเครือ ได้แก่ Alstons, Ashley Manor, AMX Design, Alexander & James และ Arlo & Jacob ซึ่งบริษัทเชื่อมั่นว่าทั้ง 5 แบรนด์ จะสามารถตอบสนองความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ของลูกค้าในประเทศอังกฤษที่สูงขึ้นมาก จากการต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน และมีแนวโน้มการขยับขยายที่พักอาศัย จากในเมืองสู่นอกเมืองมากขึ้น ทำให้ยังคงมีความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่อยู่อย่างต่อเนื่อง

ในอนาคตบริษัทมีแผนการขยายตลาดให้กว้างออกไปอีก ให้ครอบคลุมทั้งทวีปยุโรปและอเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง

สำหรับกลุ่มวัสดุปูพื้น (TCM Flooring) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการหยุดชะงักของอุตสาหกรรมบริการและธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้มีรายได้จากการขายและบริการ 304.64 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 34.65

20191003 TCM Factory 089 700x466 1

เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการเดินทางทั่วโลก ถึงแม้จะมีทิศทางเศรษฐกิจดีขึ้นจากการกระจายวัคซีนได้อย่างกว้างขวางในแถบทวีปยุโรป และอเมริกา แต่ผู้ประกอบการยังคงออมเงินเพื่อใช้หมุนเวียนในกิจการ จึงยังไม่เห็นการลงทุนในด้านการตกแต่ง

แต่จากการที่กลุ่มธุรกิจสามารถควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการขาย และการบริหาร จากการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ทำให้กลุ่มธุรกิจมีผลขาดทุนสุทธิ 49.28 ล้านบาท ถือว่าสามารถปรับตัวได้ดีขึ้นกว่างวดเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 24.31

เพื่อเป็นการกระตุ้นรายได้ บริษัทยังได้เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ และขยายตลาดเข้าสู่กลุ่มลูกค้าในส่วนของที่อยู่อาศัย (Residential) ที่ยังมีกำลังซื้อให้มากขึ้น ซึ่ง ณ ปัจจุบัน สถานการณ์ในตลาดต่างประเทศเริ่มคลี่คลาย ธุรกิจท่องเที่ยวมีทิศทางที่ดีขึ้น และมีการติดต่อจากลูกค้าต่างประเทศเข้ามามากขึ้น บริษัทจึงมุ่งเน้นการเติบโตของรายได้จากลูกค้าในตลาดที่เริ่มมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้ว ได้แก่ ตลาดอเมริกา ยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มพรมลักช์ชัวรี่ เช่น พรมในร้านแบรนด์เนม พรมบนเครื่องบินส่วนตัว เป็นต้น

ส่วนกลุ่มธุรกิจพรม และผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ (TCM Automotive) มีรายได้จากการขายและบริการที่ 222.43 ล้านบาท สูงขึ้นกว่างวดเดียวกันของปีก่อน ที่ทำได้ 208.49 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.69 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในช่วงปลายปี 2563 ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายการขายและบริหารโดยรวมลดลง จากความพยายามเพิ่มประสิทธิภาพในทุกด้าน และจำกัดงบประมาณต่าง ๆ ทำให้สิ้นไตรมาส 1 กลุ่มธุรกิจนี้มีผลกำไรสุทธิ 26.72 ล้านบาท สูงขึ้นกว่างวดเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 75.21

แนวโน้มของอุตสาหกรรมรถยนต์มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หุ้มบุในรถยนต์ ให้ตอบสนองกับกระแสความนิยมรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตาดูสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ที่กลับมาระบาดอีกระลอก ซึ่งอาจจะส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศต้องชะลอตัวอีกครั้ง

ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/2564 สัดส่วนรายได้ของบริษัท จากแต่ละกลุ่มธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง โดยรายได้จากการขายและบริการของ กลุ่มธุรกิจ ทีซีเอ็ม ลีฟวิ่ง ได้เติบโตขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้กลายเป็นรายได้หลัก คิดเป็นร้อยละ 71.33 โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.71

leadflooring 200221141754

กลุ่มธุรกิจ ทีซีเอ็ม ฟลอร์ริ่ง มีสัดส่วนรายได้จากการขาย และบริการเป็นลำดับที่สอง อยู่ที่ร้อยละ 16.57 ลดลงร้อยละ 12.02 จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากไตรมาสที่ 1 เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจ รวมถึงการได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19

ในขณะที่ กลุ่มธุรกิจ ทีซีเอ็ม ออโตโมทีฟ มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 12.10 ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ มีปัจจัยหลักที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โรคระบาดในประเทศไทย และนโยบายภาครัฐในการสนับสนุนอุตสาหกรรมและกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับภาพรวมตลอดทั้งปี 2564 นั้น TCMC มองว่า เศรษฐกิจในประเทศอาจจะยังไม่ฟื้นตัวมากนัก แต่สำหรับต่างประเทศ ตลาดมีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับ และมีความยืดหยุ่นขึ้น เพื่อให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น มีการนำระบบเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้

ขณะเดียวกัน ในแง่ของกลยุทธ์ ก็แสวงหาโอกาสในการเข้าซื้อธุรกิจใหม่ที่จะช่วยเสริมธุรกิจที่มีอยู่เดิม รวมถึง การขยายตลาดเข้าสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ เพื่อปิดโอกาสการเกิดความเสี่ยง หรือลดผลกระทบจากความเสี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

“โควิด-19 ถือเป็นบทเรียนที่ทำให้เราได้กลับมาทบทวนตัวเอง และพัฒนาปรับปรุงตั้งแต่นโยบายจนถึงการปฏิบัติ เพื่อให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง แข็งแกร่งในระยะยาว” ​นางสาวปิยพร ระบุ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo