Business

จ๊าก! ‘อาหารกระป๋อง’ จ่อขอขึ้นราคา หลังต้นทุน ‘เหล็กแพง’ พาณิชย์เรียกถกด่วน

 จ๊าก! ผู้ผลิต “อาหารกระป๋อง” จ่อขอขึ้นราคา หลังเจอสถานการณ์ “เหล็กแพง” พาณิชย์เรียกผู้เกี่ยวข้องถกด่วน

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดี กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์เหล็กแพง กรมการค้าภายในจึงเชิญเกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ใช้เหล็กทั้งระบบมาหารือภายใน 1 – 2 วันนี้ ว่าราคาเหล็กปรับขึ้นจากสาเหตุใด ปรับขึ้นเท่าไร ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นเท่าไร และการปรับราคาขายใหม่สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ รวมถึงหาแนวทางลดผลกระทบให้กับผู้ประกอบการ แต่คงยังไม่ถึงขั้นต้องควบคุมราคา

ส่วนกรณีผู้ผลิต อาหารกระป๋อง มีต้นทุนทินเพลต ซึ่งเป็นวัสดุในการทำกระป๋องบรรจุอาหารปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าเท่าตัว เนื่องจากสถานการณ์ เหล็กแพง และอาจขอปรับขึ้นราคาอาหารกระป๋องนั้น ผู้ประกอบการยังไม่ได้ทำเรื่องมายังกรมฯ แต่อย่างใด

อาหารกระป๋อง เหล็กแพง

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เหล็กและผลิตภัณฑ์ เช่น เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ท่อสแตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู ข้อต่อเหล็ก และเมทัลชีท ยังมีทิศทางราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุเกิดจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย โดยปริมาณเหล็กในตลาดโลกลดลง จากนโยบายของรัฐบาลจีนในการจำกัดการส่งออกเหล็กและการลดกำลังการผลิตในประเทศตามแผนแม่บทปี 2564 เพื่อการลดการปล่อยมลภาวะ ส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันความต้องการเหล็กในตลาดโลกเริ่มสูงขึ้น หลังไวรัสโควิด – 19 คลี่คลาย เศรษฐกิจหลายแห่งมีแนวโน้มฟื้นตัว

ทั้งนี้ ผลจากราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น ทำให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น โดยเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพิ่ม 0.5% จากการเพิ่มขึ้นของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก 0.8% และเดือนมีนาคม 2564 เพิ่มสูงขึ้น 5.4% จากหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่สูงขึ้น 23.7% ตลอดไตรมาสที่ 1 ปี 2564 รวมเพิ่มขึ้น 4.4% จากหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่เพิ่ม 21.2%

สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาสที่ 2 ปี 2564 คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ความต้องการของตลาดและต้นทุนของสินค้าวัสดุก่อสร้างหลายประเภทที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านการก่อสร้างที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ การบริโภคและการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปของไทย รวมถึงยอดการจัดเก็บภาษี ธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้น

shutterstock 786092152

นอกจากนี้ โครงการก่อสร้างภาครัฐภายในประเทศ การปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และการก่อสร้าง ภาคเอกชนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ประกอบกับนโยบาย Made in Thailand ที่ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศ โดยกำหนดให้งานก่อสร้างใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อนเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าหรือปริมาณเหล็กทั้งหมด น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในหลายประเทศ รวมทั้งความล่าช้าในการกระจายวัคซีน อาจส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมฟื้นตัวได้ไม่รวดเร็วนัก และยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคการก่อสร้างและธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง สนค. จะติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างที่ซื้อขายใน 12 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา และนครศรีธรรมราช ครอบคลุมหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก กระเบื้อง วัสดุฉาบผิว สุขภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 134 รายการ

นายก 2

นายกฯ สั่งเร่งแก้ “เหล็กแพง”

ในการประชุมคณะรัฐนตรี (ครม.) เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการในที่ประชุมฯ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแลปัญหาราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงเวลานี้ เพื่อลดผลกระทบต่อต้นทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งหากไม่เร่งดูแลจะกระทบต่อไปยังปัญหาการจ้างงานในระยะต่อไปได้

โดยนายกรัฐมนตรีได้รับรายงานว่า ขณะนี้ราคาเหล็กในประเทศหลายประเภทได้ปรับตัวขึ้นไปในทิศทางเดียวกับราคาเหล็กในตลาดโลก ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการเตรียมปรับนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศผู้ผลิตขนาดใหญ่ เช่น ประเทศจีน ซึ่งในช่วงเวลาที่ตลาดไม่มีความแน่นอน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยดูแลภายใต้กฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศที่มี เพื่อดูแลให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo