Business

เปิดปม ‘เหล็กแพง’ จีนจำกัดส่งออก ตลาดโลกต้องการซื้อเพิ่ม ดันราคาวัสดุก่อสร้างพุ่ง 5.4%

เหล็กแพง ดันราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 5.4% พาณิชย์คาดแนวโน้มพุ่งต่อเนื่อง หลังจีนจำกัดส่งออก ขณะที่ตลาดโลกมีความต้องการซื้อเพิ่มสูงขึ้น

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์ ได้ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยสาเหตุที่ เหล็กแพง เนื่องจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลก ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์เหล็ก ปรับตัวสูงขึ้น เพราะปริมาณเหล็กในตลาดโลกลดลง

เหล็กแพง

สำหรับ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ท่อสแตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู ข้อต่อเหล็ก และเมทัลชีท โดยสาเหตุที่ เหล็กแพง เนื่องจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกยังคงปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กปรับตัวสูงขึ้น เพราะปริมาณเหล็กในตลาดโลกลดลง

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก นโยบายของรัฐบาลจีน ในการจำกัดการส่งออกเหล็ก และการลดกำลังการผลิตในประเทศ ตามแผนแม่บทปี 2564 เพื่อการลดการปล่อยมลภาวะ ส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลก สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการในตลาดโลกสูงขึ้น จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดเริ่มคลี่คลาย

ราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น ยังส่งผลทำให้ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เพิ่มขึ้น โดยเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ปรับตัวเพิ่ม 0.5% จากการเพิ่มขึ้นของ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก 0.8% และเดือนมีนาคม 2564 เพิ่มสูงขึ้น 5.4% จากหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่สูงขึ้น 23.7% และยอดรวม 3 เดือนปี 2564 (มกราคม – มีนาคม) เพิ่มขึ้น 4.4% จากหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เพิ่ม 21.2%

ขณะที่ แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ของหมวดเหล็ก และผลิตภัณฑ์เหล็ก  ความต้องการของตลาด และต้นทุนของ สินค้าวัสดุก่อสร้างหลายประเภท ที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น

ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

ขณะเดียวกัน ยังสอดคล้องกับ เครื่องชี้วัดด้านการก่อสร้าง ที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ การบริโภค และการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปของไทย รวมถึงยอดการจัดเก็บภาษี ธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ที่ปรับตัวสูงขึ้น

ประกอบกับ โครงการก่อสร้างภาครัฐภายในประเทศ การปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และการก่อสร้าง ภาคเอกชนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ตามสถานการณ์เศรษฐกิจ รวมถึงนโยบาย Made in Thailand ที่ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ จัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศ โดยกำหนดให้งานก่อสร้าง ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อน เป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่า หรือปริมาณเหล็กทั้งหมด น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุน ให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ปรับตัวดีขึ้น ในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศ รวมทั้งความล่าช้า ในการกระจายวัคซีน อาจส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ฟื้นตัวได้ไม่รวดเร็วนัก และยังคงเป็นปัจจัยกดดัน ต่อภาคการก่อสร้างและธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง สนค. จะติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง แสดงถึงการเปลี่ยนแปลง ของระดับราคา สินค้าวัสดุก่อสร้าง ที่ซื้อขายใน 12 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา และนครศรีธรรมราช

นอกจากนี้ ยังครอบคลุมหมวดไม้ และผลิตภัณฑ์ไม้ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก กระเบื้อง วัสดุฉาบผิว สุขภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 134 รายการ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo