Business

รฟม. เคลียร์ปมค่าโดยสาร รถไฟฟ้ามหานคร ย้ำราคามาตรฐาน เป็นธรรม

รฟม. ชี้แจงกรณีค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร คิดราคามาตรฐาน เป็นธรรม ชี้สายสีน้ำเงินต้นทุนก่อสร้างสูงกว่าสายสีเขียว 3 เท่า ผู้โดยสารน้อยกว่า ต้องจูงใจเอกชนลงทุน

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงกรณี ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 25 บาท และได้มีการกล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ว่าเป็นโครงการที่รัฐบาลได้ลงทุนค่าก่อสร้างให้ทั้งหมด เหตุใดถึงไม่ลดค่าโดยสารเหลือ 10-25 บาท โดยปัจจุบันสายสีน้ำเงินคิดค่าโดยสาร เริ่มต้น 16 บาท สูงสุด 42 บาท

น้ำเงิน

ข้อขี้แจงของ รฟม. มีดังนี้

1. รฟม. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในรูปแบบการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ตามกฎหมาย

ปัจจุบันมี 4 โครงการที่ลงนามในสัญญาสัมปทานแล้ว ได้แก่ 1. โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว 2.โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว 3. โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) 4. โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง)

2. โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทั้ง 4 สายทางดังกล่าว รฟม. (ภาครัฐ) รับภาระค่าลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐานทางโยธา ในขณะที่ภาคเอกชนรับภาระค่าลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า

สำหรับโครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน เป็นโครงการก่อสร้างที่มีแนวเส้นทางเป็นโครงสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน กว่าร้อยละ 50 อีกทั้งยังมีแนวเส้นทางที่ต้องผ่านพื้นที่ชั้นในเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ลอดผ่านใต้แม่น้ำเจ้าพระยา มีความยากในการก่อสร้าง และมีความเสี่ยงในการดำเนินการหลายแห่ง จึงทำให้มูลค่าลงทุนโครงการ สูงกว่าโครงการรถไฟฟ้ายกระดับ (โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว) ถึง 3 เท่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการเดินรถ และซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ที่ผู้รับสัมปทานต้องแบกรับด้วย

ในทางกลับกันปริมาณผู้โดยสารของโครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน กลับน้อยกว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวกว่ากึ่งหนึ่ง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ภาคเอกชนลงทุนโครงการทั้งหมด ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ รฟม. (ภาครัฐ) ต้องเป็นผู้รับภาระค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางโยธา เพื่อจูงใจให้เอกชนสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนโครงการ

3. หลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าโดยสารในโครงการรถไฟฟ้ามหานครของ รฟม. เป็นการคิดตามมาตรฐาน MRT Assessment Standardization ประกอบกับ รฟม. ได้มีการกำหนดเพดานค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 12 สถานีด้วย

ทั้งนี้ หากพิจารณาโครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ซึ่งมีระยะทางรวม 48 กิโลเมตร จะเห็นว่าประชาชนมีภาระค่าโดยสารเฉลี่ยเพียง 0.88 บาท/กิโลเมตร เท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรม มีความเหมาะสมและประชาชนยอมรับได้

ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคม และ รฟม. ได้พยายามลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน โดย รฟม. ได้กำหนดให้ประชาชนไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน เมื่อเดินทางข้ามสาย ในโครงข่ายรถไฟฟ้าของ รฟม. ในกรณีที่มีการเดินทางเชื่อมต่อระหว่าง MRT สายสีน้ำเงินและ MRT สายสีม่วง รวมไปถึงการเชื่อมต่อไปยังสายสีเหลือง และสายสีชมพู ที่จะเปิดให้บริการในปี 2565 ต่อไปด้วย

ขณะที่โครงการ MRT สายสีม่วง รฟม. 16 บาท สูงสุด 42 บาท ยังได้เคยปรับลดค่าโดยสารโดยเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาทอีกด้วย (ตั้งแต่ปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2564)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo