Business

ความคืบหน้า รถไฟฟ้าหลากสี เปิดแล้ว 6 สาย อยู่ระหว่างสร้าง 4 สาย

ความคืบหน้า รถไฟฟ้าหลากสี เปิดให้บริการแล้ว 6 สาย อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4 สาย อ่านรายละเอียด เวลาเปิดให้บริการ ที่นี่

ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี – PMOC ถึงการเปิดให้บริการรถไฟฟ้า ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งล่าสุด ความคืบหน้า รถไฟฟ้าหลากสี เปิดให้บริการแล้ว 6 สาย และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4 สาย พร้อมกำหนดระยะเวลา เปิดบริการ โดยระบุว่า

ความคืบหน้า รถไฟฟ้าหลากสี

ปัจจุบัน ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีโครงข่ายรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้วจำนวน 6 สาย รวมระยะทาง 170.38 กิโลเมตร 124 สถานี ประกอบด้วย

  • รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (คูคต-หมอชิต-อ่อนนุช-เคหะสมุทรปราการ) ระยะทาง 55.80 กิโลเมตร 47 สถานี
  • รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน (สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน-บางหว้า) ระยะทาง 14 กิโลเมตร 13 สถานี
  • รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง-ท่าพระ-บางแค) ระยะทาง 47 กิโลเมตร 38 สถานี
  • รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน (Airport Rail Link) (พญาไท-มักกะสัน-สุวรรณภูมิ) ระยะทาง 28.70 กิโลเมตร 8 สถานี (โครงข่ายสายหลัก)

รถไฟฟ้าสีม่วง

  • รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) ระยะทาง 23 กิโลเมตร 16 สถานี (โครงข่ายสายหลัก)
  • รถไฟฟ้าสายสีทอง (กรุงธนบุรี-คลองสาน) ระยะทาง 1.88 กิโลเมตร 3 สถานี (โครงข่ายสายรอง) (เป็นเส้นทางเพิ่มเติมนอกเหนือ M-Map ปี 2553)

ความคืบหน้า รถไฟฟ้าหลากสี

สำหรับรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการทั้ง 6 สายทาง ได้ช่วยยกระดับการเดินทางของประชาชนให้มีความคล่องตัว รวดเร็ว ปลอดภัย ทันเวลามากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน มีโครงข่ายรถไฟฟ้า ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ประกอบด้วย รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง รถไฟฟ้าสายสีส้ม รถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง โดยแต่ละโครงข่ายรถไฟฟ้าแต่ละสาย มีรายละเอียด และความก้าวหน้า ในการดำเนินงาน ดังนี้

1. โครงข่ายรถไฟฟ้าฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต (สายสีแดงเข้ม) และช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน (สายสีแดงอ่อน) 

ระยะทางรวม 41.56 กิโลเมตร จำนวน 13 สถานี โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อ และจุดสิ้นสุดโครงการที่สถานีรังสิต ในทิศเหนือ และสถานีตลิ่งชัน ในทิศตะวันตก

ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จทุกสถานี พร้อมเปิดให้บริการในปี 2564 และในอนาคตจะดำเนินการส่วนต่อขยายเชื่อมต่อพื้นที่ด้านทิศเหนือ (ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต) กับทิศใต้ (หัวลำโพง) และพื้นที่ด้านทิศตะวันออก (หัวหมาก) กับทิศตะวันตก (ศาลายาและศิริราช)

รถไฟฟ้า2

2. โครงข่ายรถไฟฟ้าสายหลัก สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

เป็นระบบขนส่งมวลชนหลัก เชื่อมต่อพื้นที่ทิศตะวันตก กับทิศตะวันออก รองรับพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่น และแหล่งพาณิชยกรรม ที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงและมีปัญหาการจราจรติดขัด

โครงการมีระยะทางรวมประมาณ 39.8 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้ดำเนินงานการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2559 โดยมีระยะทางรวมประมาณ 22.6 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี

แนวเส้นทางเริ่มต้นจาก สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ผ่านย่านพระราม 9 รามคำแหง ลำสาลี มีนบุรี ไปสิ้นสุดที่สถานีสุวินทวงศ์ บริเวณแยกถนนรามคำแหงตัดกับถนนสุวินทวงศ์ ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 74% (ณ เดือนธันวาคม 2563) คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2567

รถไฟฟ้า

3. โครงข่ายรถไฟฟ้าสายรอง สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี

เป็นเส้นทางสายรองที่มีแนวเส้นทางไปตามถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนรามอินทรา เพื่อรองรับการเดินทางไปยังศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี

โครงการมีระยะทางรวมประมาณ 34.5 กิโลเมตร จำนวน 30 สถานี มีจุดเริ่มต้นที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ถนนรัตนาธิเบศร์ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน และสิ้นสุดที่สถานีมีนบุรี บริเวณระหว่างถนนรามคำแหง ซอย 192 และคลองสองต้นนุ่น ซึ่งบรรจบกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี

ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 67% (ณ เดือนธันวาคม 2563) คาดว่าจะเปิดให้บริการบางส่วนในปี 2564

ความคืบหน้า รถไฟฟ้าหลากสี

4. โครงข่ายรถไฟฟ้าสายรอง สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง

เป็นเส้นทางสายรองตามแนวถนนลาดพร้าวและศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีแหล่งที่อยู่อาศัยหนาแน่นและพาณิชยกรรมเป็นจำนวนมาก

โครงการมีระยะทางรวมประมาณ 30.4 กิโลเมตร จำนวน 23 สถานี มีจุดเริ่มต้นที่สถานีรัชดาภิเษก เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าหลายสาย ทั้งสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว สายสีเทา และสายสีส้มนอกจากนี้ ยังเชื่อมต่อ รถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์บริเวณทางแยกต่างระดับพระราม 9 ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 70% (ณ เดือนธันวาคม 2563) คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2565

เมื่อทั้ง 4 โครงการนี้แล้วเสร็จ จะมีเส้นทางรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 128.96 กิโลเมตร 83 สถานี ซึ่งจะทำให้กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีรถไฟฟ้าให้บริการถึง 11 สาย (เขียวเข้ม เขียวอ่อน น้ำเงิน แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ม่วง ทอง แดงเข้ม แดงอ่อน ส้ม ชมพู เหลือง) ระยะทางรวม 299.34 กิโลเมตร 207 สถานี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo