ค่ายรถยนต์โลก กำลังเดินหน้าผลิตแบตเตอรีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และไฮบริดในไทย รองรับตลาดที่กำลังเฟื่องฟู และมาตรการจูงใจจากภาครัฐ ที่ต้องการส่งเสริมให้มีการผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศ
แอนเดรียส เลตเนอร์ ซีอีโอเมอร์เซเดส เบนซ์ แมนูแฟคเจอริง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เดมเลอร์เล็งเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี บนพื้นที่ 48,000 ตารางเมตร ภายในต้นปี 2562
โรงงานแห่งใหม่นี้จะอยู่ในสังกัดของเมอร์เซเดส เบนซ์ ทำหน้าที่ผลิตแบตเตอรีป้อนให้กับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทในประเทศไทย
ปัจจุบัน เมอร์เซเดสผลิตแบตเตอรีทั้งหมดจากโรงงานในเยอรมนี ซึ่งในอีกหลายปีต่อจากนี้ บริษัทมีแผนที่จะขยายเครือข่ายการผลิตออกไปอีก 6 แห่งทั่วโลก รวมถึง 3 แห่ง ในเยอรมนี และอย่างละ 1 แห่ง ในสหรัฐ จีน และไทย ซึ่งโครงการในไทยนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนมูลค่า 100 ล้านยูโร ที่เมอร์เซเดสจะเข้าลงทุนในไทย ภายในปี 2563
ทั้งนี้ ไทย ถือเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์แถวหน้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำด้านการนำรถไฟฟ้าเข้ามาใช้ในภูมิภาคนี้
เมื่อปีที่แล้ว ราว 40% ของรถยนต์ที่เมอร์เซเดสจำหน่ายในไทย เป็นรถยนต์ปลั๊กอิน ไฮบริด และค่ายรถยนต์เยอรมนีรายนี้ ยังครองส่วนแบ่งข้างมากในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ผลจากความต้องการของนักขับขี่ที่มีฐานะร่ำรวย
ทั้งนี้ รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีราคาค่อนแพง ทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้านได้ช้ากว่าในไทย แต่ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ ก็อาจเข้าร่วมในซัพพลายเชนแบตเตอรีได้ เพราะค่ายรถยนต์ต่างๆ ได้นำการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาอยู่ในไทย
บีเอ็มดับเบิลยู คู่แข่งสัญชาติเดียวกับเมอร์เซอเดส ก็มีแผนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี ที่จังหวัดระยอง เช่นกัน โดยจะเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรีแห่งที่ 4 หลังจากที่มีการสร้างมาก่อนหน้านี้แล้วในเยอรมนี สหรัฐ และจีน
ในปี 2560 บีเอ็มดับเบิลยูผลิตรถยนต์ไฮบริดปลั๊กอิน 4 รุ่นในไทย และมียอดจำหน่ายรถยนต์นี้ในไทยจำนวน 1,300 คัน
ขณะที่โตโยต้า มอเตอร์ บริษัทรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ตั้งเป้าที่จะเริ่มการผลิตแบตเตอรีในไทยเร็วสุดในปี 2563 ซึ่งจะเป็นโรงงานแบตเตอรีที่บริษัทเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวแห่งแรกนอกบ้านเกิด
แม้ภายใต้แผนการที่วางไว้นั้น โรงงานของโตโยต้า จะยังนำเข้าเซลล์แบตเตอรี เพื่อเข้ามาติดตั้งในชุดแบตเตอรีที่โรงงานในไทย
แต่ “พลังงานบริสุทธิ์” บริษัทด้านพลังงานของไทย อาจทำให้แผนการของโตโยต้าเปลี่ยนไป เพราะบริษัทรายนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี ขนาดยักษ์ ที่คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2562 โดยใช้เทคโนโลยีของอมิตา เทคโนโลยีส์ พันธมิตรจากไต้หวัน
ทั้งนี้ การผลิตแบตเตอรีในไทย จะช่วยให้บริษัทเหล่านี้ได้รับการลดหย่อนภาษีในอัตราสูงสุด และได้รับผลประโยชน์อื่นๆ ตามมาตรการจูงใจของภาครัฐ สำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่กำหนดให้ค่ายรถยนต์จะต้องผลิตชิ้นส่วนหักของรถไฟฟ้าอย่างน้อย 1 ชนิด รวมถึง มอเตอร์ และแบตเตอรี ภายในประเทศไทย