Business

กบร. ไฟเขียว ‘สายการบินนกสกู๊ต’ เลิกกิจการในประเทศไทย

กบร. ไฟเขียว “สายการบินนกสกู๊ต” เลิกกิจการในประเทศไทย ออกใช้เครื่องบินอายุเกินเกณฑ์ ต้องมีใบสำคัญสมควรเดินอากาศฉบับใหม่

นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ครั้งที่ 2/2564 วันนี้ (24 ก.พ.) ว่า ที่ประชุม กบร. มีมติเห็นชอบการอนุญาตให้ บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด เลิกกิจการ ซึ่ง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท. หรือ CAAT) ต้องเสนอเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาอนุญาต โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 41 ของข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 97 ว่าด้วยการอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน ประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์ และประเภทการทำงานทางอากาศ

กบร. สายการบินนกสกู๊ต

โดย กพท. จะจัดทำข้อมูลเพื่อนำเสนอเกี่ยวกับความครบถ้วนสมบูรณ์ของการดำเนินการตามกฎหมายในรูปแบบตารางเปรียบเทียบ กรณีขออนุญาตเลิกกิจการโดยไม่มีการล้มละลายและกรณีขออนุญาตเลิกกิจการมีเหตุล้มละลาย ประกอบการเสนอเรื่องเพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุญาตต่อไป และ กพท. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ต้องดำเนินการตรวจสอบสถานะทางการเงินของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการกิจการการบินพลเรือนอย่างเคร่งครัดด้วย

กบร. ยังมีมติเห็นชอบให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน ประเภทการทำงานทางอากาศ (การถ่ายภาพทางอากาศ และการบินชมภูมิประเทศที่ขึ้น – ลง ณ ที่เดียวกัน) ให้แก่ บริษัท โซแลร์ เฮลิลัคก์ เอวิเอชั่น เซอร์วิส จำกัด

และ กบร. มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการให้กำหนดเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทการทำงานทางอากาศ (การถ่ายภาพทางอากาศ และการบินชมภูมิประเทศที่ขึ้น-ลง ณ ที่เดียวกัน) ให้แก่ บริษัท โซแลร์ เฮลิลัคก์ เอวิเอชั่น เซอร์วิส จำกัด และให้เสนอให้คณะอนุกรรมการกฎหมายและข้อบังคับพิจารณาเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต ก่อนเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณากำหนดเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน ประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์และประเภทการทำงานทางอากาศให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ต่อไป

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายศักดิ์สยามกล่าวต่อว่า ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบ นโยบายการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติตามร่างประกาศคณะกรรมการการบินพลเรือน เรื่อง นโยบายการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติ ซึ่งจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามนัยมาตรา 15 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ต่อไป

เมื่อ ครม. ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว จะเสนอร่างประกาศคณะกรรมการการบินพลเรือน เรื่อง นโยบายการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะประธาน กบร. พิจารณาลงนาม เพื่อที่ กพท. จะได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้นำไปปฏิบัติใช้ต่อไป รวมถึงให้ กพท. จัดทำแผนการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติและเสนอแผนการดำเนินการดังกล่าวให้ กบร. พิจารณา เพื่อให้เกิดการนำนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติต่อไป

นอกจากนี้ กบร. พิจารณาเรื่อง ร่างข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ ..ว่าด้วยการอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์และประเภทการทำงานทางอากาศ แก้ไขเพิ่มเติม และสั่งการให้ กพท. พิจารณาทบทวนร่างข้อบังคับดังกล่าวอีกครั้ง

โดยมอบหมายคณะอนุกรรมการกฎหมายและข้อบังคับพิจารณาดำเนินการแก้ไขปรับปรุงร่างข้อบังคับ กบร. เพื่อให้มีวัตถุประสงค์ในการกำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนซึ่งใช้อากาศยานที่มีอายุเกินหลักเกณฑ์ที่กำหนดในการประกอบกิจการ ต้องได้รับใบสำคัญสมควรเดินอากาศฉบับใหม่สำหรับอากาศยานดังกล่าว

เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่าอากาศยานของผู้ขออนุญาตประกอบการการบินพลเรือนมีความปลอดภัยและมีมาตรฐานการบำรุงรักษาให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ และมาตรฐานสากลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) องค์การบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐ (FAA) หรือองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อนำเสนอในการประชุม กบร. ครั้งต่อไป

สายการบินนกสกู๊ต

รายงานข่าวเปิดเผยว่า เมื่อเดือนมิุนายน 2563 สายการบินนกสกู๊ต ได้ส่งหนังสือแจ้งผู้สื่อข่าวว่า สายการบินนกสกู๊ตรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งที่จะประกาศให้ทราบว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) ของบริษัทได้มีมติ “เลิกกิจการ” โดยผู้ถือหุ้นของนกสกู๊ตจะลงมติเป็นอย่างเดียวกันในที่ประชุมใหญ่ที่จะมีขึ้นในอีกประมาณ 14 วัน

หลังจากนกสกู๊ต สายการบินร่วมทุนราคาประหยัดระหว่างสายการบินนกแอร์ของคนไทย และสายการบินสกู๊ต จากประเทศสิงคโปร์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 นกสกู๊ตได้ดำเนินธุรกิจท่ามกลางความท้าทายในสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงข้อจำกัดในการขยายเครือข่ายการบินภายใต้สภาพแวดล้อมการแข่งขันที่รุนแรงและการระบาดของโควิด-19 ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้บอร์ดของบริษัทจึงไม่เห็นหนทางสู่การฟื้นตัวและการเติบโตที่ยั่งยืนของสายการบินอีกต่อไป

จนถึงปัจจุบัน มีพนักงานนกสกู๊ตที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 425 คน โดยสายการบินนกสกู๊ตได้ชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างถูกต้อง ทั้งนี้พนักงานจำนวนหนึ่งยังคงปฎิบัติหน้าที่ เพื่อดำเนินการกระบวนการชำระบัญชีให้เสร็จสมบูรณ์ และพนักงานกลุ่มนี้จะได้รับการชดเชยอย่างถูกต้องเช่นเดียวกัน

นกสกู๊ตจะชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้งเมื่อได้มีการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี และจัดให้เจ้าหนี้ได้ยื่นข้อเรียกร้อง

นกสกู๊ตขอขอบคุณ ลูกค้า ผู้โดยสาร  พันธมิตร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนสำหรับการสนันสนุนอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2557

รายงานข่าวเปิดเผยเพิ่มเติมว่า สายการบินนกสกู๊ต ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างสายการบินสกู๊ตและสายการบินนกแอร์ของประเทศไทย ไม่สามารถทำกำไรได้นับตั้งแต่ที่สายการบินได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 โดยปัจจัยส่วนใหญ่มาจากความยากลำบากในการขยายเส้นทาง และสภาวะแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูง รวมถึงความท้าทายที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนจากวิกฤตการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย จนนำมาสู่การปิดสายการบินในที่สุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo