Economics

สรท.ปรับคาดการณ์ส่งออกปีนี้เหลือติดลบ 6-7 % คาดปีหน้าฟื้น!

“สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ” ปรับคาดการณ์ส่งออกปีนี้เหลือติดลบ 6-7% ส่วนปี 2564 จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 3-5%

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก กล่าวว่า ทาง สรท. ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 หดตัวลดลงระหว่างติดลบ 6-7% ขณะที่ปี 2564 จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 3-5%

สำหรับปัจจัยบวกที่สำคัญในปี 2564 ได้แก่

  • ไทยร่วมลงนามไทยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกันถึง 2.2 พันล้านคน ซึ่งคิดเป็น 30% ของประชากรโลก ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ครอบคลุมถึง 30% ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเกือบ 28% ของมูลค่าการค้าโลก
  • ความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19
  • สินค้ากลุ่มอาหาร และกลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์
  • ระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นกว่าปี 63
  • การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจของประเทศจีน

ส่งออก812

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 64 ได้แก่

  • ค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง
  • ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก
    –  สายเรือมีนโยบายจัดสรรระวางตู้สินค้า (Space Allocation) และจัดสรรตู้เปล่าหมุนเวียน (Container Allocation)
    –  การระบาดของโควิดรอบ 2 ในยุโรปและสหรัฐฯ ทำให้ตู้สินค้าตกค้างปลายทางจำนวนมาก
  • การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม
  • ต้นทุนแฝงในการประกอบธุรกิจของผู้ส่งออกที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากกฎระเบียบของไทยที่มีความล้าหลัง รวมถึงมีขั้นตอนดำเนินงานที่ไม่จำเป็นที่ค่อนข้างมาก
  • มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ที่อาจมีการเริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปี 64

ทั้งนี้ สรท. ได้มีข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • เร่งแก้ไขสถานการณ์ขาดแคลนตู้สินค้า และการปรับขึ้นค่าระวางทุกเส้นทาง
  • ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท และใช้มาตรการทางการเงินเพื่อลดความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย
  • เร่งปรับปรุงโครงสร้างค่าธรรมเนียมเพื่อลดต้นทุนแฝงในการส่งออก ทั้งด้านการผลิต ด้านการส่งออก (การตลาด การขออนุญาตส่งออก/นำเข้าตามพิธีการศุลกากร) ด้านการเงินและภาษีอากร ด้านการขนส่งระหว่างประเทศ (เรือ ราง อากาศ รถ) อันจะส่งผลกระทบและขีดความสามารถในการแข่งขันของทั้งผู้ส่งออกและผู้ประกอบการตลอดทั้งซัพพลายเชน
  • เร่งพัฒนาระบบ National Single Window (NSW) ของไทยให้เป็นระบบ Single Submission เพื่อเป็นการปรับลดขั้นตอนและระยะเวลาของพิธีการทางศุลกากร และจะต้องมีการจัดทำ Data Harmonization ใหม่ เพื่อรองรับการส่งข้อมูล ขาเข้า/ขาออก ณ จุดเดียว และเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาต/ใบรับรอง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo