สวทช. เตือนผู้นำเข้าเพาเวอร์แบงก์ รีบนำสินค้าไปทดสอบมาตรฐาน เพื่อยื่นขอเครื่องหมาย มอก. ภายใน 1 ธันวาคม 2563
นางเกศวรงค์ หงส์ลดารมภ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แนะนำให้ผู้ประกอบการที่นำเข้าแบตเตอรี่สำรอง (เพาเวอร์แบงก์) รีบนำสินค้าไปทดสอบมาตรฐานที่ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ (PTEC) ของ สวทช.
จากนั้น ต้องนำผลรายงานการทดสอบ ไปยื่นต่อสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อยื่นขอเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ให้แล้วเสร็จ ก่อนกำหนดของกระทรวงอุตสาหกรรม วันที่ 1 ธันวาคม 2563 เพราะมีเวลาอีกไม่มาก ก่อนที่จะถึงกำหนดการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว
สืบเนื่องจากกรณีที่เกิดเหตุการณ์เพาเวอร์แบงก์ระเบิด ในขณะจอดรถไว้กลางแดดร้อนจัด รวมถึงการชาร์จไฟทิ้งไว้จนเกิดไฟลุกไหม้เสียหายขึ้นบ่อยครั้ง ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภค
ดังนั้น สมอ. จึงได้ประกาศให้มาตรฐานเพาเวอร์แบงก์เป็นมาตรฐานบังคับ คือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย มอก. 2879-2560
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอ มอก.เพื่อรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ของตนเองได้ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ส่งผลให้เพาเวอร์แบงก์ในท้องตลาดทุกยี่ห้อ ต้องมีเครื่องหมาย มอก. รับรองตามที่มาตรฐานกำหนด หากละเมิดผู้นำเข้าจะมีความผิดทางอาญา
ด้านนายไกรสร อัญชลีวรพันธ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช. แนะนำผู้บริโภคสังเกตความผิดปกติของแบตเตอรี่ โดยให้สังเกตจากรูปลักษณ์ภายนอก หากมีการบวมแตกหรือบิ่น ถือว่าไม่ปลอดภัย ควรนำไปตรวจสอบก่อนใช้งานต่อ
นอกจากนี้ ผู้บริโภคไม่ควรเลือกใช้แบตเตอรี่ที่มีราคาถูกเกินจริง ที่สำคัญให้ตรวจสอบว่า สินค้าได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภคเอง
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- สั่งผู้ผลิต สินค้า มอก. กว่า 1 หมื่นราย ‘ติดคิวอาร์
- เซเว่นฯ ลั่น ‘เอาเรื่อง’ ซัพพลายเออร์ขาย ‘เฟซชิลด์’ แอบแปะ มอก.
- ระวัง!!ซื้อหม้อทอดไร้น้ำมัน ออนไลน์ เจอสินค้าไม่ได้มาตรฐาน