Business

เคาะแล้ว!! เยียวยาสายการบิน ใช้ลานจอดฟรี ยืดจ่ายค่าธรรมเนียม

เยียวยาสายการบิน กบร. คลอดมาตรการ ให้ใช้ลานจอดฟรี ไม่คิดค่าธรรมเนียม ด้าน กพท. ยืดเวลา จ่ายค่าธรรมเนียม จาก 15 วันเป็น 90 วัน

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ที่มี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบ มาตรการ เยียวยาสายการบิน เพื่อลดผลกระทบของสายการบิน จากวิกฤติไวรัสโควิด – 19

เยียวยาสายการบิน

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ มีมติให้ยกเว้น ค่าธรรมเนียม ที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ของสายการบิน จากเดิมลดให้เพียง 50% ให้ทุกสายการบินที่เข้ามาจอดเครื่องบิน เนื่องจากไม่สามารถทำการบินได้ โดยจะมีผลบังคับ ตั้งแต่ช่วงระยะเวลาที่สายการบินหยุดทำการบิน และจอดตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังให้เพิ่มจำนวนประเทศ ที่เคยประกาศ เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ที่ทำการบินเข้า- ออกประเทศไทย และเดิม ลดค่าธรรมเนียม การจอดเครื่องบิน และ ค่าธรรมเนียม การขึ้นลง สนามบิน ลด 50% โดยให้ขยายเป็นทุกประเทศที่เข้า – ออกประเทศไทย ให้ได้รับมาตรการช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน จากเดิม 11 ประเทศ

สำหรับ 11 ประเทศตามมาตรการเดิม ประกอบด้วย สาธารณรัฐเกาหลี, สาธารณรัฐประชาชนจีน, เขตบริหารพิเศษมาเก๊า, เขตบริหารพิเศษฮ่องกง, สาธารณรัฐอิตาลี, สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน, มาเลเซีย, ราชอาณาจักรกัมพูชา, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

เยียวยา สายการบิน
จุฬา สุขมานพ

“กบร.ให้ขยายเป็นทุกประเทศที่ เข้า-ออก ประเทศไทย ได้รับมาตรการช่วยเหลือ อย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า สายการบินในทุกประเทศทุกแห่ง ได้รับผลกระทบเหมือนกัน”นายจุฬา กล่าว

ขณะเดียวกัน ที่ประชุม กบร. ยังได้มีมติให้ ตามที่ กพท. ขออนุมัติ ขยายระเวลา การจัดเก็บ ค่าธรรมเนียม การกำกับดูแลของ กพท. ที่สายการบินซึ่งทำการบินเข้า ออก ประเทศไทย จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับ กพท. 15 บาท/คน ภายใน 15 วันทำการ หากเกินจะต้องเสียค่าปรับ โดยขอขยายเป็นจ่าย ภายใน 90 วันทำการ และไม่ต้องเสียค่าปรับเกินเวลา

ในส่วนของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ที่กำกับดูแล สนามบินภูมิภาค 29 แห่ง ซึ่งผลกระทบจากโควิด – 19 ทำให้ ทย.ไม่สามารถจัดเก็บ ค่าธรรมเนียม การใช้สนามบิน เข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานได้นั้น ที่ประชุมฯ ได้ให้ ทย. ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรง และสูญเสียรายได้ ไปประเมินตัวเลข ที่จะขอรับความชดเชยจากภาครัฐ

ด้าน บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ได้ขอให้ กบร. โดยกระทรวงคมนาคม จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และให้ภาครัฐ เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ เพื่อมาเสริมสภาพคล่อง เนื่องจากช่วงที่เกิดโควิด ทำให้ไม่มีสายการบินต่างประเทศ บินเข้าออกประเทศไทย และสายการบินในประเทศ ก็ยกเลิกเที่ยวบิน

“แม้ว่า ที่ผ่านมา บวท. จะลด ค่าธรรมเนียม การจัดจราจรทางอากาศลง 20% แล้วก็ตาม ก็ยังไม่สามารถ บรรเทาผลกระทบได้ ดังนั้น จากข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ในที่ประชุม จึงให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ไปสรุปรายละเอียด ความช่วยเหลือ รวมถึง งบประมาณ ที่จะขอจากรัฐ มาเสนอสรุปในการประชุมครั้งหน้า”นายจุฬา กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo