COVID-19

สายการบินเอเชียปรับตัวรับ ‘New Normal’ หลังสิ้นยุค ‘โควิด-19’

เมื่อฟิลิปปินส์ แอร์ไลนส์ เปิดตัวยูนิฟอร์ม หรือเครื่องแบบใหม่ สายการบินแห่งชาติฟิลิปปินส์รายนี้ ภาคภูมิใจที่จะนำเสนอให้เห็นว่า การออกแบบชุดเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากฝีมือของดีไซเนอร์แฟชั่นเท่านั้น แต่ยังมาจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ด้วย

airr

เครื่องแบบที่ฟิลิปปินส์ แอร์ไลนส์เปิดตัวเมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา อยู่ในรูปของชุดป้องกันตัวเอง (PPE) ตัดเย็บจากวัสดุที่ผ่านการรับรองทางการแพทย์ เพื่อให้ลูกเรือปลอดภัย

ยูนิฟอร์ม ที่ตกแต่งด้วยโลโก้สีสันสดใสของสายการบินฟิลิปปินส์ แอร์ไลนส์นี้ ถือเป็นหนึ่งในมาตรการเร่งด่วนที่บรรดาสายการบินต่างๆ นำเข้ามาใช้ เพื่อรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 ทั้งยังเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า สายการบินต่างๆ ในเอเชียกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการต่อสู้อันยาวนาน

ซิเอโล วิลลาลูนา โฆษกของสายการบินระบุว่า ยูนิฟอร์มใหม่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวิถีใหม่ (new normal) และจะเป็นบรรทัดฐานที่ทางสายการบินจะใช้ไปนานเท่าที่จำเป็น

ไม่ใช่แค่ที่ฟิลิปปินส์เท่านั้น แต่สายการบินต่างๆ ทั่วทั้งเอเชีย กำลังนำมาตรการต่างๆ เข้ามาใช้ รวมถึง การวางแผนจัดที่นั่งแบบเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และลด หรือยกเลิกบริการบนเครื่องบินจำนวนหนึ่ง อาทิ การขายอาหาร หรือเครื่องดื่ม หรือการชอปปิงสินค้าปลอดภาษี ในความพยายามที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร และเจ้าหน้าที่คุมกฎระเบียบว่า พวกเขามีความปลอดภัยมากพอที่จะขึ้นบินอีกครั้งหนึ่ง

cebuu

นักวิเคราะห์ชี้ว่า แม้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะมีความคล้ายคลึงในหลายด้าน กับเหตุการณ์ที่สายการบินต่างๆ ต้องเผชิญ หลังเกิดเหตุวินาศกรรมสหรัฐเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการเดินทางทางอากาศ และทำให้เกิดกฎข้อบังคับต่างๆ หลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวน แต่สถานการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นมาตรการที่เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายอยู่ที่การผ่อนคลายความกังวลของผู้โดยสารนั้น อาจทำให้ความความต้องการเดินทางด้วยเครื่องบินอยู่ในระดับต่ำต่อไป

“การตรวจคัดกรองจะเริ่มต้นขึ้นที่สนามบิน ส่วนบนเครื่องบินนั้น สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกๆ คือ การทำให้มีพื้นที่ว่างอย่างมาก ซึ่งจำเป็นจะต้องจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่จะเดินทางมาถึงด้วย” ปีเตอร์ ฮาร์บิสัน ประธานกิติมศักดิ์ของ CAPA บริษัทวิจัยการบินชั้นนำ ระบุ

เขาบอกด้วยว่า ในเส้นทางระหว่างประเทศนั้น จะมีจำนวนเครื่องบินน้อยลงกว่าเดิมต่อไปอีกหลายปี ทั้งการที่ที่นั่งบนเครื่องมีความหนาแน่นลดลงนั้น ยังหมายต่อต้นทุนต่อที่นั่งที่สูงขึ้นด้วย ดังนั้นสายการบินจำเป็นต้องขึ้นราคาตั๋วเครื่องบิน เพื่อให้ครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเหล่านี้

ฮาร์บิสัน ยังคาดการณ์ว่า ในอนาคตเครื่องบินทุกลำอาจจะมีจำนวนคนบนเครื่องลดลงไปถึงครึ่งหนึ่ง

ขณะที่ซูบาส เมนอน ผู้อำนวยการใหญ่สมาคมสายการบินเอเชีย แปซิฟิก ซึ่งเป็นกลุ่มการค้าของสายการบิน ก็คาดการณ์ถึงการกลับคืนสู่ภาวะปกติ อย่างช้าๆ เช่นกัน

“การระบาดนี้ ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง กว่าที่สถานการณ์จะเบาบางลง และเราทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวอย่างเหมาะสม ซึ่งเมื่อการเดินทางกลับมา ก็อาจจะเป็นกระบวนการที่เชื่องช้า และต้องใช้เวลา

เมนอน เตือนด้วยว่า อาจเป็นเรื่องจำเป็น ที่จะต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักเดินทางว่า ได้มีการนำมาตรการที่เหมาะสม เข้ามาใช้ เพื่อทำให้การเดินทางของพวกเขาปลอดภัย และช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการเดินทางข้ามประเทศ

gaa

การูดา อินโดนีเซีย มีมาตรการตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสาร และลูกเรือ พร้อมขอให้ผู้โดยสารเว้นที่นั่งว่างไว้ระหว่างกัน ทั้งยังติดตั้งเครื่องกรองอากาศชนิด HEPA ไว้กับเครรื่องบินทุกลำด้วย

ขณะที่คาเธ่ย์ แปซิฟิค แอร์เวย์ส ที่ดำเนินงานด้วยความสามารถเพียงแค่ 3% ในเดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคมนี้ ระงับการขายสินค้าดิวตี้ฟรี ในเที่ยวบินไปจีน และยกเลิกบริการสิ่งของอย่างผ้าห่ม และนิตยสาร

สายการบินจำนวนมาก รวมถึง ฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ส และแอร์เอเชีย ของมาเลเซีย ต่างเชื่อว่า มาตรการทำนองนี้จะคงอยูต่อไป แม้จะมีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ และตารางบินต่างๆ กลับมาเป็นปกติแล้ว

อย่างไรก็ดี ยังมีสายการบินอีกจำนวนหนึ่ง ที่ยังไม่เชื่อว่ามาตรการเหล่านี้จะเป็น new normal

อีวา แอร์เวย์ส จากไต้หวัน ขอให้ผู้โดยสารทุกคนสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่บนเครื่อง ยกเว้นเวลารับประทานอาหาร พร้อมยกเลิกบริการอาหารตามคำขอ ทั้งพนักงานต้อนรับบนเครื่องทุกคน จะต้องสวมชุด PPE ที่รวมถึง หน้ากากอนามัย และแว่นด้วย

กระนั้นก็ตาม บริษัทระบุว่า มาตรการป้องกันเหล่านี้ จะใช้เฉพาะช่วงของการป้องกันโรคระบาดเท่านั้น

ไทยไลอ้อนแอร์ โบอิ้ง

ผู้บริหารจากสายการบินเอเชียอีกหลายหนึ่ง กล่าวด้วยว่า บริษัทของเขาไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ส่งเสริมการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยสายการบินที่ใช้เครื่องกรองอากาศแบบ HEPA อย่าง การูดา อินโดนีเซียนั้น ก็เพียงต้องการส่งสารถึงผู้โดยสารว่า อากาศในเครื่องบินเป็นอากาศที่สะอาดที่สุดในโลก

แต่อย่างน้อยที่สุดก็สำหรับเวลานี้ บรรดาเจ้าหน้าที่คุมกฎระเบียบก็ไม่อยากให้เกิดความผิดพลาดขึ้นมา ทำให้เกิดมาตรการ และกฎข้อบังคับต่างๆ หลั่งไหลออกมา จนทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมการบิน ต้องออกมาเรียกร้องให้มีความร่วมมือระหว่างประเทศเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เหมือนเหตุการณ์หลังการวินาศกรรมสหรัฐ

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ฮาร์บิสัน จาก CAPA ชี้ว่า เมื่อโลกสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้แล้ว สายการบินต่างๆ ยังจะต้องเดินทางอีกไกลกว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาได้

“โลกของการบินในอนาคต จะไม่เหมือนกับที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ จะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่การบินโลก จะกลับมาเฟื่องฟูได้อีกครั้ง”

Avatar photo