Business

ไฟเขียว ‘โคเพิ่มรายได้’ เกษตรฯ เร่งเจรจาเปิดตลาดโคมีชีวิต ป้อนส่งออก

คณะกรรมการนโยบายพัฒนาโคเนื้อฯ เคาะโครงการโคเพิ่มรายได้ เร่งเจรจาเปิดตลาดโคมีชีวิต ป้อนส่งออก ผลักดันขับเคลื่อนโคเนื้อ-กระบือเป็นระบบ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาโคเนื้อ-กระบือ และผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (Beef Board) ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โคเพิ่มรายได้

ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวว่า ภายใต้การนำของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตระหนักถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาราคาสินค้าปศุสัตว์ตกต่ำ เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบให้กับเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

ดังนั้น จึงได้มอบให้กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเข้าไปเจรจากับต่างประเทศ เพื่อขยายการส่งออกตลาดโคเนื้อและกระบือ ซึ่งจะทำให้ราคาในประเทศขยับขึ้นได้

สำหรับความคืบหน้าขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ระหว่างการเร่งเจรจาผลักดันการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศจีน ซาอุดิอาระเบีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยชนิดสินค้าปศุสัตว์ ได้แก่ โคมีชีวิตและผลิตภัณฑ์ โคขุนและโคเพื่อการทำพันธุ์ เนื้อโค เป็นต้น

เห็นชอบ โครงการโคเพิ่มรายได้ ช่วยเกษตรกรรายได้น้อย

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ เพื่อเพิ่มรายได้สำหรับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย (โคเพิ่มรายได้) เพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยได้รับแม่โคเป็นของตนเองให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งกระตุ้น ฟื้นฟูตลาดการซื้อขายโคภายในประเทศ ระยะเวลาดำเนินการ ปีงบประมาณ 2567-2569 (3 ปี)

ทั้งนี้ ได้ของบกลางสนับสนุนค่าจัดซื้อแม่พันธุ์โคให้กับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย จำนวน 4,000 ราย ซึ่งจะเตรียมหารือกับสำนักงบประมาณ และเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบโครงการโคเพิ่มรายได้ต่อไป

ธรรมนัส
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า

ขณะเดียวกัน เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาโคเนื้อ- กระบือ และผลิตภัณฑ์แห่งชาติ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ประชุมจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งเพิ่มเติม 3 คณะ ดังนี้

1. ยกเลิกคำสั่งเดิม ที่ 648/2561 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 และแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพัฒนาโคเนื้อ-กระบือ และผลิตภัณฑ์แห่งชาติขึ้นใหม่ โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน ลงวันที่ 31 มกราคม 2567

2. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการการรักษาตลาดการบริโภคเนื้อโค-กระบือ และผลิตภัณฑ์ โดยมี นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน

3. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตโคเนื้อ-กระบือ เพื่อจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิต สำหรับประกอบการกำหนดนโยบายด้านโคเนื้อและกระบือของประเทศไทยได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยมี เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นประธาน

สถานการณ์ผลิตและการตลาดโคเนื้อ-กระบือ ปี 2567

ด้านการผลิต

โคเนื้อ ในปี 2567 คาดการณ์ว่าโคเนื้อมีจำนวน 9.95 ล้านตัว เกษตรกร 1.44 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวนโคเนื้อ 9.65 ล้านตัว คิดเป็น 3% คาดการณ์ว่าผลผลิตโคเนื้อจะมีจำนวน 1.399 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2566 คิดเป็น 7.84%

ในปี 2566 ประเทศไทยมีการเจรจาเปิดตลาดโคเนื้อมีชีวิตกับหลายประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสามารถส่งออกโคเนื้อได้เพิ่มขึ้นในปี 2567 ประกอบกับการท่องเที่ยวภายในประเทศมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อรองรับความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ในส่วนของกระบือ คาดการณ์ปี 2567 มีจำนวน 1.8 ล้านตัว เกษตรกรผู้เลี้ยง 310,836 ราย คาดผลผลิตกระบือ 418,000 ตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีประมาณ 3.5 แสนตัว

เกษตร1

ด้านการตลาด

ราคาโคเนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ ณ เดือนมีนาคม 2567 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 78.10 บาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 86.52 บาท หรือลดลง 9.74%

ราคากระบือมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ ณ เดือนมีนาคม 2567 ราคาเฉลี่ย 31,709 บาทต่อตัว ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ราคา 39,679 บาทต่อตัว หรือลดลง 20.09%

ด้านการนำเข้า-ส่งออก

ปี 2567 (ตั้งแต่ ม.ค.-ก.พ.) นำเข้าเนื้อโคสดและเนื้อโคแปรรูป 5,130.58 ตัน มูลค่า 1,301.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 4,407.04 ตัน มูลค่า 1,143.81 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 16.42% โดยนำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย มากที่สุด

การส่งออกโคมีชีวิต จำนวน 15,326 ตัว มูลค่า 372.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 9,666 ตัว มูลค่า 275.41 ล้านบาท หรือคิดเป็น 58.56% ตลาดคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย ลาว

การส่งออกเนื้อโคสดและเนื้อโคแปรรูป จำนวน 98.03 ตัน มูลค่า 15.16 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 ที่มีจำนวน 189.69 ตัน มูลค่า 26.70 ล้านบาท

ผลิตภัณฑ์กระบือปี 2567 (ตั้งแต่ ม.ค. – ก.พ.) มีการนำเข้าหนังกระบือหมักเกลือ 348.74 ตัน มูลค่า 6.39 ล้านบาท ปริมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีการนำเข้า 273.20 ตัน มูลค่า 7.00 ล้านบาท โดยปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้น 27.65% แต่มูลค่าลดลง 8.69% ประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ สปป.ลาว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo