Business

REIC คาดอสังหาฯ 2567 เปิดขายใหม่กว่าแสนหน่วย เพิ่มขึ้น 7%

ศูนย์ข้อมูลฯ คาดอสังหาฯ 2567 ที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เพิ่มขึ้น 7% หากสถานการณ์หนุน บวกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเห็นผล คาดขยายตัวใกล้เคียงปี 2565

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า จากผลสำรวจภาคสนามโครงการที่อยู่อาศัยภาพรวม ปี 2566 พบว่ามีจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวนทั้งสิ้น 96,278 หน่วย ภาพรวมลดลง 11.9% ประกอบด้วยโครงการบ้านจัดสรร 48,923 หน่วย โครงการอาคารชุด 47,355 หน่วย

อสังหาฯ 2567

ทั้งนี้ มีโครงการที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่จำนวนทั้งสิ้น 73,703 หน่วย ภาพรวมลดลง 22.5% ประกอบด้วยโครงการบ้านจัดสรร 43,229 หน่วย โครงการอาคารชุด 30,474 หน่วย

ส่วนที่อยู่อาศัยเหลือขายจำนวนทั้งสิ้น 209,894 หน่วย ภาพรวมเพิ่มขึ้น 13.7% ประกอบด้วยโครงการบ้านจัดสรร 126,247 หน่วย โครงการอาคารชุด 83,647 หน่วย โดยอัตราดูดซับลดลงจาก 3.8% ในปี 2565 เป็น 2.7% ในปี 2566

ตลาดอสังหาฯ 2567 ที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เพิ่มขึ้น 7%

สำหรับตลาดอสังหาฯ 2567 คาดการณ์ว่าจะมีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้ามาในตลาด เพิ่มขึ้น 7% ที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่เพิ่มขึ้น 24.6% โครงการที่อยู่อาศัยเหลือขาย เพิ่มขึ้น 10.6% เมื่อเทียบกับปี 2566

ในกรณีปัจจัยทางเศรษฐกิจสามารถบรรลุตามเป้าหมาย จะส่งผลให้ปี 2567 มีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นไปใกล้สถานการณ์ในปี 2565 มากขึ้น ซึ่งเป็นปีที่ดีที่สุดหลังจากการเกิดสถานการณ์โควิด-19

Dr.Vichai 2827 0
วิชัย วิรัตกพันธ์

ดร.วิชัย กล่าวว่า สำหรับในปี 2567 คาดว่าที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่อาจจะเข้ามาในตลาดจำนวนทั้งสิ้น 103,019 หน่วย เพิ่มขึ้น 7% มูลค่ารวม 651,377 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • โครงการบ้านจัดสรร 50,882 หน่วย มูลค่า 425,415 ล้านบาท
  • โครงการอาคารชุด จำนวน 52,137 หน่วย มูลค่า 225,965 ล้านบาท

นอกจากนี้ คาดว่าจะมีจำนวนที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ 91,869 หน่วย เพิ่มขึ้น 24.6% มูลค่า 486,084 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการบ้านจัดสรรจำนวน 52,647 หน่วย มูลค่ารวม 333,868 ล้านบาท โครงการอาคารชุด จำนวน 39,222 ล้านบาท มูลค่า 152,216 ล้านบาท

การที่ยอดขายของอาคารชุด อาจจะต่ำกว่ายอดเปิดตัวใหม่ คาดว่าอาจส่งผลให้ภาพรวมโครงการที่อยู่อาศัยเหลือขายจะมีจำนวน 232,216 หน่วย มูลค่า 1,296,376 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% เทียบกับปี 2566 ประกอบด้วย โครงการบ้านจัดสรร 135,654 หน่วย มูลค่า 866,755 ล้านบาท และโครงการอาคารชุด 96,562 หน่วย มูลค่า 429,621 ล้านบาท

ด้านอัตราดูดซับ คาดว่าจะลดลงอยู่ที่ 2.4% เนื่องจากอุปทานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอัตราดูดซับการขายของโครงการอาคารชุด ที่อาจมีการปรับลดลงมากกว่าบ้านจัดสรร

shutterstock 506276581

ดร.วิชัย กล่าวสรุปถึงทิศทางในปี 2567 ว่าทิศทางสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นเล็กน้อย แต่ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ได้แก่

1. เศรษฐกิจไทยที่อาจจะชะลอตัวลงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

2. การยกเลิกมาตรการผ่อนปรน LTV

3. ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงมีอัตราส่วนที่สูงกว่า 90% ของ GDP

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยและการขอสินเชื่อ ทำให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้น้อยลง เนื่องจากสถาบันการเงินมีเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งคาดว่าอาจส่งผลกระทบต่อยอดการโอนกรรมสิทธิ์ได้

แต่หากมีการออกมาตรการเพิ่มความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม มีโอกาสที่ตลาดจะปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo