Business

ส่องตลาดที่อยู่อาศัย ปี 67 คาดเพิ่มทั้งจำนวนหน่วย-มูลค่า ห่วงระดับราคา 3 ล้านลดลง

ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ประเมินทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยปี 2567 มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว แต่ยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ห่วงตลาดราคา 3 ล้านอาจทรงตัวหรือลดลง จากแบงก์เข้มสินเชื่อ

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2567 ภายใต้สถานการณ์ภาพรวมทางเศรษฐกิจที่จะมีการขยายตัว 2.8-3.2% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1-2% อัตราดอกเบี้ย MRR เฉลี่ยทั้งปีของ 6 ธนาคารใหญ่อยู่ระหว่าง 6.8-7% และยังมีมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ เท่าที่มีในปัจจุบัน

ตลาดที่อยู่อาศัย

หากสภาพแวดล้อมเป็นไปตามที่ประเมินข้างต้น คาดว่าจะสร้างให้เกิดการขยายตัวของหน่วยและมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ปี 2567 มีจำนวน 373,360 หน่วย เพิ่มขึ้น 1.8% แบ่งเป็นจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบประมาณ 270,219 หน่วย ขยายตัว 4.4% และจะมีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยอาคารชุดประมาณ 103,141 หน่วย ลดลง 4.6%

ส่วนในด้านมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมีจำนวนประมาณ 1,087,499 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% โดยเป็นจำนวนมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบประมาณ 786,142 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% และจำนวนมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยอาคารชุดประมาณ 301,357 ล้านบาท ลดลง 1%

ศูนย์ข้อมูลฯ คาดการณ์ว่าในด้านอุปสงค์คาดว่าปี 2567 จะมีการออกใบอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศจำนวน 95,897 หน่วย เพิ่มขึ้น 2.6% รวมถึงจะมีจำนวนพื้นที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศประมาณ 40,080,060 ตร.ม. เพิ่มขึ้น 3.5%

นอกจากนี้ ยังประเมินว่า จะมีจำนวนพื้นที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างแนวราบทั่วประเทศประมาณ 35,925,126 ตร.ม. เพิ่มขึ้น 1.2% จำนวนพื้นที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดทั่วประเทศประมาณ 4,154,934 ตร.ม. เพิ่มขึ้น 28.3%

ขณะที่การเปิดตัวโครงการใหม่เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล คาดการณ์ว่าจะมีหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่จำนวน 103,019 หน่วย เพิ่มขึ้น 6.4% ด้านมูลค่าโครงการเปิดขายใหม่ 609,992 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1%

TON 9827
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์

ดร.วิชัย กล่าวสรุปว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2567 มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว แต่ยังเผชิญความเสี่ยงในหลายประการ เช่น เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ส่งผลต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยและการขอสินเชื่อ และยังคงมีโอกาสที่จะไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ เนื่องจากสถาบันการเงินมีเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อที่เข้ม

ทั้งนี้ การเข้มงวดสินเชื่อ อาจส่งผลต่อที่อยู่อาศัยในระดับราคาปานกลางถึงระดับราคาต่ำ และก็อาจส่งผลให้มีการซื้อขายและการโอนกรรมสิทธิ์ในกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท อาจมีภาวะทรงตัวในทิศทางที่ลดลง

ขณะเดียวกัน อาจส่งผลให้อุปทานที่อยู่อาศัยในกลุ่มนี้อาจมีหน่วยเหลือขายที่สะสมต่อเนื่อง ทำให้มีอุปทานเหลือขายมากขึ้น หากมีการเติมอุปทานใหม่เข้ามามากกว่าความสามารถในการดูดซับของอุปสงค์ได้ ดังนั้นจึงควรให้ความระมัดระวังในการเปิดโครงการในกลุ่มระดับราคานี้

อย่างไรก็ตาม ที่อยู่อาศัยในระดับราคาแพง หรือ ราคาเกินกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยแนวราบ แม้ที่ผ่านมาจะมียอดขายและยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่ค่อนข้างทรงตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2565 – 2566 แต่ก็มีข้อสังเกตว่า ที่อยู่อาศัยในระดับราคานี้มีอุปทานเข้ามาเพิ่มในตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปริมาณอุปทานส่วนเกินที่เริ่มสะสมมากขึ้น

ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2567 ที่อาจมีโอกาสขยายตัว แต่ตั้งอยู่บนปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ทำให้ต้องหวังแรงสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อสร้างให้อุปสงค์ในตลาดมีความแข็งแรง และสร้างแรงกระตุ้นต่าง ๆ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อที่อยู่อาศัย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo