Business

‘การบินไทย’ ยันแผนจัดหาเครื่องบินใหม่ 80 ลำ ไม่กระทบแผนฟื้นฟู หนุนไทยฮับการบินภูมิภาค ร่วมฟื้นท่องเที่ยว

การบินไทย แจงกรณีจัดหาเครื่องบินใหม่เพิ่ม 80 ลำ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ ไม่กระทบแผนฟื้นฟูกิจการ พร้อมหนุนไทยขึ้นแท่นฮับการบินภูมิภาค ร่วมพลิกฟื้นเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวไทย

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับคณะผู้บริหารการบินไทย เปิดเผยถึงกรณีแผนจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 787 Dreamliner ลำใหม่ จำนวน 45 ลำ และสิทธิในการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมสูงสุดรวมเป็น 80 ลำ ว่า ไม่กระทบแผนการฟื้นฟูกิจการอย่างแน่นอน และจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งบริษัทการบินไทย อุตสาหกรรมการบินของไทย และประเทศ

จัดหาเครื่องบินใหม่

นายชาย กล่าวว่า การจัดหาฝูงบินใหม่เป็นการดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์และแผนฟื้นฟู และแผนธุรกิจ ที่จะลดแบบของเครื่องบินลง จาก 9 แบบ ระยะยาวจะเหลือ 4 แบบลำตัวกว้าง 1 แบบ ลำตัวแคบ วันนี้เป็นการเดินตามแผนงาน ซึ่งเครื่องโบอิ้ง 787 เป็น 1 ใน 3 แบบที่การบินไทยเลือก

นอกจากนี้ที่ผ่านมา ส่วนแบ่งการตลาดของการบินไทยลดลงมาโดยตลอด หลังจากการปรับโครงสร้างองค์กรทั้งระบบ จะกลับมาเติบโตและทวงคืนส่วนแบ่งการตลาดคืน ซึ่งเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก การบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติ มีส่วนแบ่งการตลาดแทบจะต่ำที่สุดในโลก ถ้าไม่เพิ่มส่วนแบ่งการตลาด จะไม่มีทางพลิกฟื้นองค์กรได้

ขณะที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบในการเป็นฮับการบินของภูมิภาค และฮับด้านการท่องเที่ยว หากสายการบินแห่งชาติไม่แข็งแกร่งพอ จะเป็นฮับได้ยาก ดังนั้นการบินไทยต้องผนึกสายการบินพันธมิตรเพื่อสร้างความเป็นฮับ รวมทั้งล่าสุดได้หารือกับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกันสร้างกรุงเทพและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในการผลักดันให้เป็นฮับ

พร้อมกันนี้ ขอย้ำว่าการจัดหาเครื่องบินครั้งนี้ อยู่บนพื้นฐานของการทำธุรกิจโดยแท้ และมีความโปร่งใส ซึ่งการบินไทยยืนยันว่าไม่คุยผ่านนายหน้า ล็อบบี้ยิสต์ แต่ต้องการคุยกับผู้ผลิตเครื่องบินและเครื่องยนต์โดยตรง
ซึ่งส่วนลดที่ได้มาเข้าบริษัทการบินไทยทั้งหมด

S 5939270
ชาย เอี่ยมศิริ

ด้านนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดหาเครื่องบินใหม่ครั้งนี้ ไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัท เพราะหากดูจากฐานะการเงิน มีเงินพอที่จะจัดหาเครื่องบินใหม่ได้ เพราะวิธิการจัดหายังมีทางเลือกทั้งเช่าดำเนินการหรือกู้เงิน เป็นต้น

เชื่อมั๊ย ถ้าดูจากฐานะการเงินของเราแล้ว 45 ลำเราสามารถซื้อด้วยเงินสดได้ เพราะไม่ได้จ่ายเงินสดทันที เครื่องบินจะทะยอยเข้ามา เงินหลักจะจ่ายก่อนส่งมอบเครื่องบิน พอรับเครื่องบินมาก็สามารถไปบินสร้างรายได้ได้เลย

นอกจากนี้ การซื้อเครื่องบินจำนวนมาก ยังทำให้ได้เงื่อนไขที่ดี และดูการตลาดไปด้วย สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการให้กทม.เป็นฮับ สุวรรณภูมิเป็นฮับ การบินไทยต้องมีเครื่องบินมากขึ้น

เห็นได้จากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก่อนโควิด เรามีเครื่องบิน 100 กว่าลำ วันนี้เหลือ 70 ลำ เพิ่ม 45 ลำเข้ามาก็ยังน้อยกว่าก่อนโควิด แล้วจะเป็นฮับได้อย่างไรหรือจะเป็นฮับให้สายการบินต่างชาติ

สิ่งสำคัญคือ ความจำเป็นที่ต้องมีฝูงเครื่องบินใหม่เนื่องจาก การเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน การท่องเที่ยว ที่เติบโตสูงมาก ขณะที่การบินไทยขาดทุนมา 8-9 ปี เครื่องบินหลายลำมีอายุการใช้งานมานาน ในอนาคตต้องเอาออกจากฝูงอยู่ดี ปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบิน 70 ลำ สิงคโปร์แอร์ไลน์มี 154 ลำ ฮ่องกงแอร์ไลน์มี 178 สายการบิน ANA มี 200 กว่าลำ

S 5939266 0
ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การบินไทยเป็นฟีดที่เล็กมาก แต่ประเทศไทยมีโลเคชันที่ดี มีลูกค้าต้องการมาไทยเป็นจำนวนมาก ไทยเป็นแหล่งที่ทุกคนอยากมา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาเครื่องบินใหม่มาเพิ่ม ภายใต้ภาวะที่สามารถจ่ายหนี้ได้ครบตามกำหนดระยะเวลา

สำหรับเงื่อนเวลาการจัดหาเครื่องบิน 45 ลำ จะมีเวลาตัดสินใจเลือกรูปแบบการจัดหาอีก 1 ปี โดยในปีแรกของการส่งมอบ จะทะยอยเข้ามาเป็นครั้ง ๆ จำนวนหลักหน่วย และสามารถตัดสินใจรูปแบบในแต่ละครั้งของการส่งมอบเครื่องบินใหม่

ในส่วนของแผนการดำเนินงานในปีนี้ การบินไทยจะมีเครื่องบินเพิ่มเป็น 79 ลำ มีแฟคเตอร์ในระดับดี อย่างไรก็ตามคาดว่า ค่าโดยสารจะลดลงจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น จากสายการบินที่เอาเครื่องบินที่จอดอยู่มาบิน การแข่งขันจากสายการบินใหม่ ขณะที่ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับ 120 ดอลลาร์ต่อบาเรล โดยคาดว่ากระแสเงินสดของบริษัทจะเพิ่มขึ้นจาก 6.7 หมื่นล้านในสิ้นปี 2566

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo