Business

อย่าหลงประเด็น! ‘ธงทอง’ บอกการใช้ประโยชน์ที่ดิน กับปมย้ายอุเทนถวาย!

อย่าหลงประเด็น! “ธงทอง” ชี้ปม ย้ายอุเทนถวาย ไม่ปรากฏหลักฐาน ที่แสดงให้เห็นถึงกรรมสิทธิ์เจ้าของที่มีเพียงสัญญาเช่า ครบกำหนดไปนานแล้ว ย้ำจุฬาฯจะทำอะไรสามารถทำได้ 

ยังคงเป็นประเด็นร้อนแรง ที่ถกเถียงกันในสังคมถึง ย้ายไม่ย้าย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย  หลังศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้อุเทนฯ ย้ายออกจากพื้นที่ของจุฬาฯ ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2565 ต้องดำเนินการภายใน 60 วันหลังจากมีคำสั่ง

 “ธงทอง” บอกอย่าหลงประเด็น!

ล่าสุด ศ.ดร.ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์แสดงความคิดเห็น ระบุว่า ก่อนหน้านี้ ผมไม่เคยออกความคิดเห็น เรื่องที่ตั้งวิทยาเขตอุเทนถวาย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ถึงเวลานี้เห็นใครต่อใครก็พูดเรื่องนี้กันให้ขรมไป ถ้าผมจะพูดบ้าง คงไม่เป็นไรนะครับ

อย่าหลงประเด็น!

1. ผมเคยทำหน้าที่ผู้อำนวยการหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่นานสิบกว่าปี ได้ค้นคว้าเอกสารและผ่านตาเอกสารเกี่ยวกับที่ดิน ซึ่งเป็นที่ตั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาครบทุกชิ้น ไม่ปรากฏหลักฐานใดว่า “อุเทนถวาย” ได้รับพระราชทาน ได้รับโอน หรือมีกรรมสิทธิด้วยประการหนึ่งประการใดในที่ดิน ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุเทนถวายในปัจจุบัน มีแต่เพียงสัญญาเช่า ซึ่งครบกำหนดไปนานปีแล้ว และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ได้ต่อสัญญาเช่าให้อีก

2. อุเทนถวายมีข้อโต้เถียงในเรื่องกรรมสิทธิ และนำคดีขึ้นสู่ศาล คดีถึงที่สุดว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของแปลงนี้

3. ผมจำวันเวลาที่แน่นอนไม่ได้ แต่ได้มีการเจรจาตกลงและทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างอุเทนถวายกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าอุเทนถวายจะย้ายการเรียนการสอนไปยังสถานที่ใหม่ แต่ในทางปฏิบัติแล้วเหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง

4. เรื่องเหตุกระทบกระทั่งระหว่างอุเทนถวายกับสถาบันการศึกษาอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลกัน มีมาช้านาน และมีความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเกิดขึ้นต่อเนื่อง บางคราวประชาชนคนธรรมดาก็ถูกลูกหลง บาดเจ็บล้มตายไปกับเขาด้วย

อย่าหลงประเด็น!

 อย่าหลงประเด็น ย้ายอุเทนถวาย

5. ผมได้ทราบจากข่าวสารสาธารณะว่า กระทรวงอุดมศึกษามีแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนาน โดยการให้สถาบันการศึกษาที่ชื่อ อุเทนถวาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกยังคงรับนักศึกษาปีที่หนึ่งในปีการศึกษาหน้าที่จะถึงนี้ โดยให้ไปจัดการเรียนการสอนในวิทยาเขต หรือสถานที่อื่นซึ่งไม่ใช่พื้นที่ปทุมวัน ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด ชี้ขาดมานานปีแล้วว่าเป็นที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

6. การดำเนินการตามข้อ 5 ข้างต้น นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งย่อมอยู่ในฐานะที่จะได้รับทราบตั้งแต่ต้นแล้วว่า เมื่อตนเข้าไปเป็นนักศึกษา จะมีสถานที่เรียนอยู่ที่ใด เป็นการรับทราบข้อมูลล่วงหน้า ทำให้มีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาในสถาบันแห่งนี้

7. มีบางเสียงอภิปรายกล่าวอ้างว่า หากอุเทนถวายไม่อยู่ที่ปทุมวันที่แล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะนำที่ดินไปจัดผลประโยชน์หรือทำธุรกิจ ผมเห็นว่าข้อเถียงดังกล่าวเป็นการหลงประเด็น หลงตรรกะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิในที่ดินย่อมมีความชอบธรรมที่จะนำที่ดินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ตามที่เห็นสมควร จากความรู้ส่วนตัวของผม พื้นที่ตรงนี้อยู่ในแผนการใช้ที่ดิน เพื่อประโยชน์ในการศึกษามานมนานแล้ว

อย่าหลงประเด็น!

“แต่ถ้าในวันข้างหน้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคิดจะปรับแผนไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ก็เป็นเรื่องที่ประชาคมจุฬาฯ รวมตลอดถึงประชาชนจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของผู้หนึ่งผู้ใด ถ้ามีเรื่องทุจริตคิดมิชอบเกิดขึ้น ไม่ต้องเดือดร้อนถึงคนอื่นหรอกครับ เพียงแค่คนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน เขาย่อมไม่ยอมอยู่นิ่งอย่างแน่นอนครับ”

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight