Business

ส่งออกข้าวไทยปี 66 ทะลุเป้า 8.76 ล้านตัน คาดปี 67 ลดเหลือ 7.5 ล้านตัน

กรมการค้าต่างประเทศ เผยส่งออกข้าวไทยปี 2566 ทำได้ 8.76 ล้านตัน ทะลุเป้าที่ตั้งไว้ 8 ล้านตัน ส่วนปี 67 ตั้งเป้า 7.5 ล้านตัน เหตุผลผลิตลด การแข่งขันรุนแรง หลายประเทศลดนำเข้า ข้าวไทยราคาสูงกว่าคู่แข่ง 

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดี กรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวไทยในปี 2566 มีปริมาณ 8.76 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 13.62% เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 8 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 178,136 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.43% หรือประมาณ 5,144 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่งออกข้าวไทย

สำหรับตลาดสำคัญ 5 ลำดับแรก ได้แก่ อินโดนีเซีย สัดส่วน 16.11% เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย รองลงมา คือ แอฟริกาใต้ สัดส่วน 10.10% อิรัก 9.74% สหรัฐฯ 8.06% และจีน 5.38% และในจำนวนข้าวที่ส่งออก แยกเป็นข้าวขาว สัดส่วน 55.54% ข้าวหอมมะลิไทย 19.17% ข้าวนึ่ง 15.70% ข้าวหอมไทย 5.97% ข้าวเหนียว 2.97% และข้าวกล้อง 0.65%

เมื่อแยกการส่งออกเป็นรายภูมิภาค โดยเอเชีย ได้แก่ อินโดนีเซีย จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และฮ่องกง มีสัดส่วน 41.14% แอฟริกา ได้แก่ แอฟริกาใต้ เซเนกัล แคเมอรูน โมซัมบิก โกตดิวัวร์ เบนิน สัดส่วน 28.46% ตะวันออกกลาง ได้แก่ อิรัก เยเมน อิสราเอล ซีเรีย ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สัดส่วน 13.26% อเมริกา ได้แก่ สหรัฐ แคนาดา บราซิล เปอร์โตริโก เม็กซิโก สัดส่วน 11.54% ยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร อิตาลี เบลเยียม สัดส่วน 3.31% โอเชียเนีย ได้แก่ ปาปัวนิวกินี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิจิ สัดส่วน 2.29%

ตั้งเป้าส่งออกข้าวไทยปี 2567 ลดลง

ขณะที่เป้าหมายการส่งออกข้าวไทยในปี 2567 กรมได้ร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดการณ์ร่วมกันว่าจะส่งออกได้ปริมาณ 7.5 ล้านตัน ลดลงจากปี 2566 เพราะผลผลิตข้าวของไทย คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนถึง 5.87% เป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และการส่งออกที่อาจเผชิญกับการแข่งขันและความท้าทายหลายประการ

รณรงค์ พูลพิพัฒน์
รณรงค์ พูลพิพัฒน์

นอกจากนี้ ยังคาดว่าปริมาณผลผลิตข้าวโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณอุปทานข้าวโลกเพิ่มขึ้น การนำเข้าข้าวของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากความนิยมของการบริโภคข้าวลดลง อาทิ จีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ทำให้การแข่งขันทางด้านราคารุนแรงขึ้น ขณะที่ไทยมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศผู้ผลิตและประเทศผู้ส่งออก เช่น จีน เวียดนาม และอินเดีย

ขณะเดียวกัน มีสัญญาณว่าอินโดนีเซียอาจซื้อข้าวน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เพราะมีข้าวค้างสต็อกจากปี 2566 ค่อนข้างมาก ขณะที่จีนมีการผลิตข้าวมากขึ้นและเริ่มปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้นำเข้าข้าวให้เป็นผู้ผลิตข้าวที่เพียงพอต่อการบริโภคของประชากรและอาจส่งออกในอนาคต และอินเดียอาจประกาศยกเลิกการระงับการส่งออกข้าวขาว ทำให้ภาคเอกชนของอินเดียกลับมาส่งออกข้าวได้เสรีตามปกติ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนเป็นความท้าทายต่อการส่งออกข้าวของไทย

นายรณรงค์กล่าวว่า สำหรับแผนการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกข้าว จะดำเนินการตามนโยบายของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ความสำคัญกับการรักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ ในการส่งออกไปต่างประเทศ โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยในการทำงาน เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายการส่งออกข้าวที่ได้ตั้งไว้

shutterstock 2348412283

ส่วนแผนงานสำคัญ ประกอบด้วยการจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ หรือ Thailand Rice Convention (TRC) 2024 ในเดือน พ.ค.2567 ซึ่งเป็นงานประชุมใหญ่ที่ผู้เชี่ยวชาญในวงการค้าข้าวโลกมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ตลาดข้าวโลกและเจรจาธุรกิจระหว่างกัน รวมทั้งจะมีการจัดงาน TRC สัญจร ลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลแนวโน้มความต้องการข้าวในตลาดโลกแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวได้ตรงกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้ มีแผนเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์และขยายตลาดข้าวกับแอฟริกาใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดข้าวที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของไทย รวมทั้งการเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับรัฐบาลอินโดนีเซียและจีน และประเทศอื่นที่มีความประสงค์ขอซื้อข้าวในรูปแบบ G to G ตลอดจนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่สำคัญ และจัด Thai Rice Roadshow ประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในตลาดจีนด้วย

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการรับมือกับความท้าทายในการขายข้าวให้ประเทศคู่ค้าในประเด็นที่ราคาข้าวไทยสูงกว่าราคาข้าวของประเทศผู้ส่งออกรายอื่น อันเนื่องมาจากต้นทุนการผลิตที่สูง กรมจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร ผู้ส่งออก เร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก

ทั้งนี้ จะเน้นการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตต่อไร่สูง ไม่ควรน้อยไปกว่าผลผลิตข้าวต่อไร่ของประเทศผู้ส่งออกอื่น ซึ่งปัจจุบันมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทยทั้งสิ้น ประกอบกับพันธุ์ข้าวต้องมีความต้านทานโรคและแมลง เพื่อลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยและการกำจัดแมลง เพราะหากไทยไม่มุ่งเน้นพัฒนาปรับปรุงในเรื่องดังกล่าว จะทำให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันทางการค้าข้าวในตลาดโลกในที่สุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo