ตลาดรถยนต์ไทยแข่งเดือด เอบีม คอนซัลติ้ง เผยผลสำรวจดีลเลอร์ พร้อมรับโมเดลการขายใหม่ ทั้งแบบ Agency Model และ Online Sales
การแข่งขันในตลาดรถยนต์ในประเทศไทย กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ดีลเลอร์หรือตัวแทนจำหน่ายหลายแบรนด์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากยอดขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ผู้นำในตลาดอย่างโตโยต้าและอีซูซุ สามารถขยายตัวในตลาดและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดรวมจาก 46% ในปี 2561 เป็น 60% ในปี 2565 แต่อีก 3 เจ้าใหญ่พบว่า ส่วนแบ่งตลาดรวมกันลดลงจาก 28% เป็น 21%
ในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัทรถยนต์ราวสิบแบรนด์ก็เผชิญกับปัญหา และมีส่วนแบ่งตลาดลดลงจาก 25% ในปี 2018 เป็นต่ำกว่า 20% ในปี 2565
นอกจากนี้ การแข่งขันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น จากการเข้ามาของรถไฟฟ้าสัญชาติจีนที่เพิ่มจากแค่แบรนด์เดียวในปี 2561 เป็น 5 แบรนด์ในปี 2566 และทำให้ส่วนแบ่งตลาดเปลี่ยนแปลงไป 2% ถึง 5% ในปี 2565
การแข่งขันที่สูงขึ้นยังส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของตัวแทนจำหน่ายโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายที่เป็นแบรนด์ระดับรอง ทำให้ยอดขายรายเดือนของตัวแทนจำหน่ายแต่ละแห่งลดลงและหลายแห่งดำเนินธุรกิจได้อย่างยากลำบากขึ้น
เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) ได้สัมภาษณ์ดีลเลอร์รถยนต์แบรนด์ต่าง ๆ ทั่วประเทศจำนวน 24 แห่ง และพบว่า ดีลเลอร์ส่วนใหญ่ยินดีเปิดรับโมเดลการขายใหม่ทั้งแบบ Agency Model หรือ Online Sales หากสามารถช่วยให้ธุรกิจดีลเลอร์ดีขึ้นได้
ปัจจัยหนึ่งคือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากการเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งตัวเลือกที่มากขึ้นอย่างมาก จนบ่อยครั้งก่อให้เกิดความสับสนและยากลำบากในการเปรียบเทียบราคา
ผลสำรวจของเอบีม คอนซัลติ้ง ยังพบว่าลูกค้าต้องการเห็นราคาเดียวอย่างโปร่งใส ให้ความสำคัญกับแบรนด์น้อยลงและให้ความสำคัญในเรื่องความคุ้มค่าและประโยชน์ใช้สอยมากกว่าการแสดงสถานะทางสังคม นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีความคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมบนออนไลน์มากขึ้น และสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่และทุกเวลา จึงทำให้บทบาทและความสำคัญของดีลเลอร์ลดน้อยลง
ตลาดรถยนต์เผชิญความท้าทายรอบด้าน
การขายรถยนต์ให้ได้หนึ่งล้านคันในประเทศไทย ดูเหมือนจะเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ในภาวะถดถอยในขณะนี้ และมียอดขายเพียง 8.3 แสนคันในปี 2565 เทียบกับปี 2562 ที่สามารถทำยอดขายได้หนึ่งล้านคัน
ภาพรวมของปี 2566 นี้คาดว่ายอดขายจะลดลงเป็น 7.82 แสนคัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 22% ของยอดขายที่ลดลง สถานการณ์นี้เป็นผลพวงมาจากรายได้ต่อครอบครัวที่ลดลง หนี้ต่อครัวเรือนที่สูงขึ้น จึงมีผลกระทบต่อกำลังซื้อ
อีกทั้งสถาบันการเงินต่าง ๆ ก็เริ่มเข้มงวดต่อการปล่อยสินเชื่อเงินกู้เพื่อซื้อรถ เพราะอัตราการชำระคืนอยู่ในขั้นต่ำ ทำให้มีหนี้เสียที่เกิดจากการกู้ซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น 18% และมีอัตราการกู้ไม่ผ่านมากขึ้น
นอกจากนี้ความคาดหวังของบริโภคที่มีต่อกระบวนการซื้อรถยนต์ก็เปลี่ยนไป โดยส่วนมากเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อจากโซเชียลมีเดียที่มีข้อเสนอมากมายเข้ามาหลายทางจนอาจทำให้เกิดความสับสน
การสำรวจของเอบีม คอนซัลติ้งชี้ว่า ผู้บริโภคชอบการตั้งราคาที่ตรงไปตรงมา และการเปรียบเทียบราคาที่กินเวลายาวนานและยุ่งยากยังสร้างประสบการณ์ซื้อที่ไม่ดี ซึ่งมีผลต่อความพอใจและชื่อเสียงของแบรนด์
ในขณะนี้ผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มที่อายุน้อยให้ความสำคัญกับ ความคุ้มค่า และ เทคโนโลยีที่มีทั้งสาระและบันเทิง มากกว่าความซื่อสัตย์ต่อแบรนด์ จึงมีส่วนให้รถยนต์แบรนด์ใหม่ ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น
มากไปกว่านั้นผู้บริโภคยังใช้การสืบค้นข้อมูลทางออนไลน์มากขึ้นก่อนจะเข้ามาชมสินค้าจริงที่โชว์รูม และได้รับอิทธิพลจากรีวิวิของอินฟลูเอนเซอร์ และมีผู้บริโภคจำนวนมากที่ตัดสินใจซื้อรถยนตร์จากข้อมูลเหล่านี้ แม้การซื้อขายที่เกิดขึ้นจริงจะยังต้องมีการเดินทางข้ามาที่โชว์รูม แต่ผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไปใช้การซื้อขายทางออนไลน์ทั้งกับรถยนต์และสินค้าอื่น ๆ มากขึ้นในอนาคต
ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในเทียร์รองลงไป จึงควรพิจารณาเปลี่ยนแปลงโมเดลการขายเพื่อรักษาผลประโยชน์และตำแหน่งทางการตลาดในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีความแข่งขันอย่างมากในตอนนี้
การแข่งขันในตลาดเริ่มสูงขึ้นเพราะความแข็งแกร่งของแบรนด์ชั้นนำและการเข้ามาของแบรนด์รถยนต์จากจีน หนี้ในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นยังทำให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการปลดหนี้มากกว่าการซื้อรถยนต์คันใหม่ และให้ความสำคัญกับราคามากขึ้น
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘เอ็นวี โกชั่น’ เดินเครื่องผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า หนุนไทยแชมป์ฐานผลิตยานยนต์ในภูมิภาค
- เผยความสำเร็จ จัดตั้งศูนย์ CATARC ในไทย หนุนไทยขึ้นแท่นฮับรถยนต์ไฟฟ้า
- ส่องทัพ ‘รถยนต์’ แบรนด์จีน งานมอเตอร์ เอ็กซ์โป