Business

‘สมศักดิ์’ สั่งกองทุนหมู่บ้าน-ศอ.บต. พัฒนา 5 จังหวัดชายแดนใต้หลุดพ้นความยากจน

“สมศักดิ์” พบ กรรมการกองทุนหมู่บ้าน 5 จังหวัดชายแดนใต้ สั่งกองทุนหมู่บ้าน-ศอ.บต. จับมือพัฒนาพื้นที่ ให้ประชาชนหลุดพ้นความยากจน 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ นพ.สมหมาย บุญเกลี้ยง ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ร่วมรับฟังความเห็นคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และข้าราชการในจังหวัดให้การต้อนรับ

5 จังหวัดชายแดนใต้

นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า ในฐานะที่ตนเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. และได้กำกับดูแลกองทุนหมู่บ้าน ทำให้วันนี้จำเป็นต้องเดินทางมา เพื่อนำทั้งสองหน่วยงานนี้ มาบูรณาการ ซึ่งมีเป้าหมายในการทำงานคือ การทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หมดหนี้ และหลุดพ้นจากความยากจน

สำหรับเรื่องที่จะทำนั้น จะต้องไม่ยากและไม่ซับซ้อนให้โอกาสคนให้มากขึ้น ซึ่งจากการที่ตนลงพื้นที่ชายแดนใต้มา 3 วัน ได้เห็นอะไรต่างๆ ก็พบว่า การทำปศุสัตว์ ยังเป็นเรื่องที่ง่ายและสร้างโอกาสได้ เช่น การเลี้ยงวัว การเลี้ยงแพะ การเลี้ยงปูในลักษณะคอนโด โดยตนมองว่า เป็นเรื่องที่ดี

ดังนั้น จากนี้ไปกองทุนหมู่บ้าน จะต้องไปทำสถิติตัวเลขออกเป็น 3 ส่วนคือ 1. บุคคลที่ได้รับเงินจากกองทุนหมู่บ้านแล้วประสบความสำเร็จไม่กลับมากู้อีก 2. บุคคลที่ยังกู้เงินอยู่ และ 3. บุคคลที่เสถียรภาพไม่ดี แล้วไม่ให้กู้เงินอีกแล้ว

หากทำข้อมูลตรงนี้ได้ เราจะสามารถวิเคราะห์การติดตามส่งเสริมการพัฒนาได้ ตนจึงขอกำชับว่า ศอ.บต. และกองทุนหมู่บ้าน จะต้องลงพื้นที่ร่วมกัน เพื่อช่วยกันดูแลประชาชนและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

ในส่วนของกรรมการหมู่บ้าน อาจจะต้องมีการปรับและแก้ระเบียบ เพิ่มในส่วนของวุฒิการศึกษาเข้าไป อ่านออกเขียนได้ บวกลบคูณหารได้ดี เอาเข้ามาทำงาน จะเป็นประโยชน์ และบุคคลที่ต้องเข้ามาเป็นกรรมการนั้น ต้องใส่ใจชาวบ้าน คอยสอดส่องดูแล

สมศักดิ์
สมศักดิ์ เทพสุทิน

วันนี้ก็ต้องขอบคุณกรรมการทุกท่าน ที่เหน็ดเหนื่อยกันมา แต่เราต้องทำและพัฒนาให้ดีที่สุด และสิ่งที่ทอดทิ้งไม่ได้ คือประชาชนที่ไม่สามารถจะกู้เงินได้แล้ว กองทุนหมู่บ้าน ต้องดึงมือเขาขึ้นมาให้โอกาส ให้อาชีพง่ายๆ เช่นการเลี้ยงวัว

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีการพูดคุยกันถึงนกกรงหัวจุก ซึ่งนายสมศักดิ์ ก็ได้สั่งการให้ ศอ.บต. พร้อมปศุสัตว์จังหวัด ทำกรอบข้อเสนอต่าง ๆ ขึ้นมาว่า จะทำอย่างไรได้บ้าง เพราะนกกรงดี ๆ สายพันธุ์ดีเสียงเพราะ บางตัวมีราคาถึง 5 แสนบาท โดยถือว่า เป็นโอกาสและเป็นอีก 1 อาชีพได้เลย

ขณะที่ นายสมนึก กล่าวว่า ตลาดกองทุนหมู่บ้าน จากประสบการณ์ตั้งแต่เป็นปลัดอำเภอ ชาวบ้านมักจะมองว่า เงินกองทุนเหล่านี้ เป็นเงินที่ได้จากรัฐบาลฟรี ดังนั้น การทำงานจากนี้ ควรจะต้องมีการปรับความเข้าใจกัน ระหว่างประชาชนผู้รับเงินจากกองทุนหมู่บ้าน ให้เข้าใจในบริบทของเงิน รวมถึงระเบียบหลักเกณฑ์ต่าง ๆ

ด้านนายเบญจพล กล่าวว่า 5 จังหวัดชายแดนใต้ ที่มีสตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีกองทุนหมู่บ้าน 3,072 ทุน ที่ผ่านมาเราสนับสนุนทุกอย่างอย่างเต็มที่ แต่ต้องยอมรับว่า มีปัญหาบ้าง เนื่องจากกรรมการกองทุนบางท่าน อาจจะไม่ทราบปัญหาและไม่รู้ระเบียบ รวมถึงกรรมการบางคนนั้น การอ่านออกเขียนได้ยังไม่ดีพอ เราก็พยายามสนับสนุน ปรับปรุง และดูแลกันอย่างเต็มที่

ดังนั้น หลังจากนี้ ก็คงจะต้องทำงานร่วมกับ ศอ.บต.ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ตามแนวทางที่รองนายกฯได้กำหนดไว้

ทั้งนี้ กลุ่มกรรมการหมู่บ้าน ที่ได้เข้าร่วมประชุม ยังได้ร้องขอให้ให้มีการปรับและสนับสนุนในเรื่องของเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องของการผลิต และการสนับสนุนการให้ความรู้ ซึ่งถือเป็นอีกจุดหนึ่ง ที่อยากให้กองทุนหมู่บ้านเข้ามาสนับสนุนอีกครั้งหนึ่ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo