Business

TTW ปลดล็อกต่อสัมปทานน้ำปะปา 10 ปี หนุนแนวโน้มปันผลดีต่อเนื่อง

TTW “ปลดล็อก” ต่อสัมปทานให้สิทธิขายน้ำประปาเพื่อใช้ในพื้นที่สำนักงานประปารังสิต ได้อีก 10 ปี หนุนแนวโน้มปันผลดีต่อเนื่อง

เรียกได้ว่าเป็นการปลดล็อกธุรกิจครั้งสำคัญก็ว่าได้ของ TTW หรือ บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตน้ำประปาภาคเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศในพื้นที่สมุทรสาคร – นครปฐม และปทุมธานี – รังสิต หลังจากที่บริษัทแจ้งว่าบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด (PTW) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ TTW ได้มีการลงนามสัญญางานจ้างเอกชนบริหารจัดการผลิตน้ำประปา เป็นคู่สัญญากับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เพื่อต่ออายุการประกอบการตามสัญญาให้สิทธิขายน้ำประปาเพื่อใช้ในพื้นที่สำนักงานประปารังสิต ได้อีก 10 ปี

ต่อสัมปทานขายน้ำประปา

โดยลักษณะของสัญญาจะเป็นรูปแบบบริหารจัดการผลิตน้ำประปา และบำรุงรักษาระบบผลิตน้ำประปา โรงผลิตน้ำประปาปทุมธานี ปริมาณน้ำรับซื้อขั้นต่ำ 358,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ราคาค่าจ้างผลิตน้ำประปา 6.50 บาทต่อลูกบาศก์เมตร (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) 

กรณีนี้ส่งผลให้หุ้น TTW กลับมามีโมเมนตัมเชิงบวกอีกครั้ง เพราะก่อนหน้านี้บริษัทเคยให้บริการสัญญาซื้อขายน้ำประปาดังกล่าว ด้วยอายุสัญญาต่อเนื่องมาถึง 25 ปี เมื่อมีการต่อสัญญาไปอีก แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อทั้งอัพไซด์ราคาหุ้น ประมาณการกำไร และการปรับเพิ่มเงินปันผลต่อหุ้น

ต่อสัมปทาน

ต่อสัมปทาน ไปอีก 10 ปี

บทวิเคราะห์ บล. กสิกรไทย ระบุว่าการที่ PTW เซ็นสัญญากับ กปภ. เพื่อต่ออายุสัมปทานออกไปอีก 10 ปี ภายใต้สัญญาฉบับใหม่ พร้อมลดราคาขายลงเป็น 6.50 บาทต่อลูกบาศก์เมตร หรือลดลง 53% จากอัตราเดิมที่ 13.76 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ขณะเดียวกัน PTW จะจ่ายค่าเช่ารายเดือนสำหรับเครื่องจักรผลิตน้ำที่ถูกโอนไปให้กับ กปภ. ตั้งแต่ช่วงปลายสัมปทานฉบับก่อน ค่าเช่าส่วนนี้มีจำนวนรวม 575 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลาสัมปทาน 10 ปี หรือเท่ากับค่าใช้จ่ายที่ 57.5 ล้านบาทต่อปี หรือ 0.44 บาทต่อลูกบาศก์เมตร

แม้ว่าราคาขายที่ลดลงจะส่งผลกระทบด้านการเงิน แต่จะถูกชดเชยบางส่วนจากต้นทุนที่ลดลงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากค่าตัดจำหน่ายของเครื่องจักรในการผลิตน้ำ ประมาณ 400 – 500 ล้านบาทต่อปี เปลี่ยนไปเป็นการชำระค่าเช่าที่  57.5 ล้านบาทต่อปี จึงคาดว่า Cost Of Goods Sold (COGS) จะลดลงจาก 6 – 7 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ในปี 2564 – 2566 มาอยู่ที่ 3.5 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ในปี 2567 

เพราะฉะนั้น จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คาดว่ากำไรสุทธิของ PTW จะลดลงจาก 500 ล้านบาท ในปี 2566 มาอยู่ที่ 245 ล้านบาท ในปี 2567 ซึ่งน้อยกว่าคาดการณ์เดิมที่ 360 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ด้านฐานะทางการเงินของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง โดยมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนเพียง 0.1 เท่า

นอกจากนี้ TTW มีกำหนดรายงานงบการเงินไตรมาส 3/2566 ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 คาดว่ากำไรสุทธิจะอยู่ที่ 870 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% จากไตรมาสที่ผ่านมา ปัจจัยหนุนการเติบโตคาดจะมาจากยอดขายที่มากขึ้นและต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ลดลง ประกอบกับผลกระทบตามฤดูกาลจากช่วงไฮซีซั่นของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำของ CKP ที่บริษัทเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ 

ต่อสัมปทาน

สุดท้ายนี้ บล. กสิกรไทย ยังคงแนะนำ “ซื้อ” หุ้น TTW ราคาเป้าหมาย 11.20 บาทต่อหุ้น โดยคงมุมมองบวก เนื่องจากแนวโน้มการจ่ายเงินปันผลที่คาดจะดีอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า TTW สามารถคงเงินปันผลที่ปีละ 0.60 บาทต่อหุ้น 

สำหรับ TTW เป็นผู้ได้รับสัมปทานประกอบกิจการประปา และได้ต่อยอดความเชี่ยวชาญไปสู่ธุรกิจบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร เน้นลูกค้าในเขตโรงงานอุตสาหกรรม ปัจจุบันบริษัทได้เป็นผู้ดำเนินโครงการการบำบัดน้ำเสียในนิคมอุตสาหกรรมอีกด้วย ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตสูงสุดราว 5.4 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน 

ต่อสัมปทาน

อีกทั้งยังมีเทคโนโลยี และ Know How ด้านการบริหารจัดการน้ำครบวงจร สามารถต่อยอดธุรกิจครอบคลุม การให้บริการน้ำอุตสาหกรรม น้ำประปา และการบำบัดน้ำเสีย มุ่งเจาะฐานลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม, นิคมอุตสาหกรรมครอบคลุมพื้นที่ศักยภาพทั้งนครปฐม, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี รวมถึงโซนรังสิต  พร้อมกันนี้ยังมีเงินลงทุนใน CKP ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ หลวงพระบาง มีขนาดใกล้เคียงกับโครงไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรี เพื่อสร้างความมั่นคงด้านผลตอบแทนต่อเนื่องในระยะยาว

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน