Business

‘อนุทิน-ชัชชาติ’ ร่วมทำงานแบบไร้รอยต่อ – ยันไม่ยกเลิก ม.44 ปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว

มหาดไทย- กทม. ลั่นพร้อมทำงานไร้รอยต่อ เพื่อประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด “อนุทิน” ยันไม่ยกเลิกคำสั่ง ม. 44 ปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว ต้องเคลียร์ให้ชัด “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ” เผยรอสภา กทม.เคาะจ่ายหนี้ BTS 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะ ว่าวันนี้เป็นโอกาสดีที่นายอนุทิน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มาตรวจเยี่ยมกรุงเทพมหานคร  ที่อยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงมหาดไทย

1. กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำกับดูแล และเป็นผู้เชื่อมโยงเรากับรัฐบาล เรามีอะไรก็ผ่านทางมหาดไทยเป็นหลัก เช่น เรื่องรถไฟฟ้า BTS  เราต้องทำเรื่องผ่านกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งการกำกับดูแลการใช้งบประมาณต่างๆ ที่รัฐบาลให้มา รวมถึงนโยบายต่าง ๆ จากคณะรัฐมนตรีมาที่กรุงเทพมหานคร

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

2. มีหน่วยงานอื่นภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย หลายหน่วยงานที่ต้องทำงานร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นกรมการปกครอง กรมป้องกันและบรรเทาสารณภัย องค์กรส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง  ทุกองค์กรจะมีผลต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนชาวกทม. จึงทำให้การประสานงานอย่างไร้รอยต่อเป็นเรื่องที่สำคัญ

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

3. กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ติดต่อกับ 6 จังหวัด ประกอบด้วย นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และสมุทรสาคร การบริหารจัดการกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลภายใต้การกำกับดูแลของมหาดไทยจะทำให้มีผลเกี่ยวข้องกันในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสีย ขยะ การจราจร น้ำท่วม ดังนั้นการประสานงานระหว่าง 6 จังหวัดและกรุงเทพมหานครเป็นเรื่องสำคัญ

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

นายอนุทิน กล่าวว่า เป้าหมายของเราตรงกันอยู่แล้วนั่นก็คือประโยชน์สูงสุดของพี่น้องชาวกทม. กระทรวงมหาดไทย พร้อมสนับสนุนภารกิจระหว่างกัน เพื่อทำให้งานต่างๆ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยความรวดเร็ว ไร้รอยต่อและเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ  วันนี้ได้ให้คำมั่นสัญญากันไว้แล้ว ทั้งนี้ ตนเคารพนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่ได้ให้สัญญากับพี่น้องประชาชนไว้  กระทรวงมหาดไทยก็พร้อมที่จะสนับสนุน

นายอนุทิน ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่าเป็นเรื่องที่ต้องหารือกัน ยังมีขั้นตอนอื่น ๆ อีกมาก  กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ตอบสนองให้ทุกอย่างมีประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และผู้ใช้บริการ ส่วนกระทรวงมหาดไทยจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาปลดล็อกมาตรา 44 เพื่อให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวเดินต่อได้หรือไม่นั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้งว่าหากคำสั่งใดจะให้ยกเว้น หรือคาเอาไว้ มาตรา 44 ให้เร่งแจ้ง แต่เรื่องนี้กระทรวงมหาดไทยคงไม่ได้แจ้ง ให้เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.ทั่วไป

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะเข้า ครม.ต่อให้กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้เสนอ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ต้องสอบถามความคิดเห็นส่วนราชการด้วย เรื่องนี้ต้องสอบถามกระทรวงคมนาคม สำนักงบประมาณ สศช. ต้องปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอน ขออย่าให้ผิดกฎหมาย แต่ถ้ากทม.เสนอให้ยกเลิกมาตรา 44 แล้วทุกอย่างอธิบายได้  ตนก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะมีปัญหา แต่วันนี้มีโจทย์ยากคือ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดอดีตผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหาร BTS จึงต้องเคลียร์เรื่องนี้ให้ขาดก่อน

“หากจะเริ่มกระบวนการใหม่ต้องให้เคลียร์ เป็นยุคของผู้ว่าฯชัชชาติ เป็นยุคของผม ไม่ใช่รับอะไรจากที่เราไม่เกี่ยว อย่าให้หน่วยงานยอมรับในสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมาย รัฐไม่มีสิทธิ์เอาเปรียบผู้ประกอบการ หากเรื่องเดินไปได้แล้ว ผมกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ ต้องหารือกันให้มากขึ้น”

ชัชาติ

ขณะที่นายชัชชาติ กล่าวว่าขณะนี้สภา กทม.พิจารณาเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว  เมื่อมีข้อสรุปจากคณะกรรมาธิการวิสามัญแล้ว ก็จะแจ้งให้กระทรวงมหาดไทย โดยมาตรา 44 ที่ค้างอยู่เป็นคำสั่ง คสช.ที่ 3/2562 ให้เดินรถอย่างไร้รอยต่อ กระทรวงมหาดไทย และ กทม. ต้องหารือกันก่อนที่จะนำเข้าที่ประชุม ครม. ส่วนจะเสนอให้ยกเลิกมาตรา 44 หรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า แล้วแต่

ส่วนการชำระหนี้ต้องรอให้ สภา กทม.อนุมัติ เนื่องจากเป็นโครงการงบผูกพันต้องใช้เงินสะสมจ่ายขาด  น่าจะชำระหนี้ภาระค่างานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ภายใน 2-3 เดือน  เป็นส่วนที่แยกจากค่าจ้างการให้บริการเดินรถ (O&M)

“เราทั้งคู่ไม่ได้รับผิดชอบ แต่มาจากคนก่อนหน้านี้ ต้องดูให้ถูกต้อง  ไม่ใช่เงินส่วนตัวเราเป็นเงินของประชาชน”

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.เคยขอให้รัฐบาลชุดก่อนรับภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว เรื่องนี้คงต้องดูอีกทีและทำข้อเสนอไปยังกระทรวงมหาดไทย โดยรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 2 หมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่ยังไม่เก็บค่าบริการ คงไม่ฟรีแบบไม่มีที่สิ้นสุด เนื่องจากมีนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทของรัฐบาลด้วย  เชิญเอกชนมาพูดคุยเรื่องนี้ได้ แต่ตัวเลขไม่ใช่ง่าย เพราะสัมปทานมี 2 ส่วน คือส่วนไข่แดงช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ส่วนต่อขยาย เป็นส่วนที่ กทม.จ้างเอกชนเดินรถ จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 จะจ้างเดินรถต่อถึงปี 2585 จ่าย 20 บาทได้ไม่มีปัญหาในส่วนต่อขยาย แต่เมื่อคำนวณค่าจ้างเอกชนเดินรถเฉลี่ยอยู่ที่ 33 บาท เท่ากับว่า กทม.ต้องแบกส่วนต่างอีก 13 บาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight