สปสช. ชวน “คลินิกกายภาพบำบัดเอกชน” ร่วมให้บริการผู้ป่วย “สิทธิบัตรทอง” 4 กลุ่มอาการ เข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็ว ลดแออัดในโรงพยาบาล
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการเพิ่มทางเลือกให้ผู้ป่วยระยะกลาง (IMC) สามารถเข้ารับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพกายภาพบำบัดกับคลินิกกายภาพบำบัดเอกชนที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทองว่า แนวคิดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลและการเข้าไม่ถึงบริการกายภาพบำบัดของผู้ป่วย
เนื่องจากนักกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลมีน้อย ประกอบกับการเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่บาดเจ็บ และอีกหลายกรณีที่มีความจำเป็นต้องได้รับบริการกายภาพบำบัด ทำให้เกิดปัญหารอคิวนาน
ชวนคลินิกกายภาพบำบัดเอกชน ร่วมให้บริการบัตรทอง
ขณะเดียวกัน เมื่อต้องรอคิวนานก็อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของคนไข้ เนื่องจากช่วงเวลาในการฟื้นฟูสมรรถภาพ จะมีช่วงเวลาทอง ประมาณ 3-6 เดือนหลังจากออกจากโรงพยาบาล ดังนั้นถ้าได้รับการดูแลที่ดี เร็วและต่อเนื่อง จะทำให้หายกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด แต่ถ้าเข้าสู่การรักษาได้ช้า การฟื้นตัวจะยาก ส่งผลกระทบต่อคนที่อยู่รอบข้างที่ต้องมีภาระในการดูแลเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้น
ด้วยเหตุนี้ สปสช. จึงมีแนวคิดกระจายบริการออกไปนอกโรงพยาบาล โดยเชิญชวนภาคเอกชนเข้าร่วมเป็น Public-Private Partnership เอาทรัพยากรของฝั่งเอกชนมาให้บริการประชาชนสิทธิบัตรทองร่วมกับภาครัฐ ขณะที่ สปสช. กระจายงบประมาณไปให้เอกชนที่เข้ามาช่วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการให้บริการที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การเข้าถึงบริการง่าย สะดวกและทั่วถึงมากขึ้น
ให้บริการ 4 กลุ่มอาการ
เบื้องต้น กลุ่มอาการที่ สปสช. ให้สิทธิประโยชน์ในการรับบริการกายภาพบำบัดในคลินิกเอกชน เบื้องต้นจะมีทั้งหมด 4 กลุ่มอาการนี้ก่อน คือ
- หลอดเลือดสมองแตก
- คนไข้ที่ได้รับอุบัติเหตุทางสมอง
- กลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บกระดูกสันหลัง
- กลุ่มที่สะโพกหักชนิดไม่ร้ายแรง
ซึ่งในกรณีที่มีผู้บาดเจ็บและได้รับการรักษาจนพ้นวิกฤตแล้ว จะเป็นช่วงฟื้นฟู แทนที่จะให้ให้มาโรงพยาบาล แพทย์อาจมองว่าคิวในโรงพยาบาลยาวและมีเครือข่ายคลินิกกายภาพบำบัดในย่านนั้น ก็สามารถส่งตัวผู้ป่วยไปรับบริการที่คลินิกกายภาพบำบัดใกล้บ้านได้
ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า การจัดบริการในรูปแบบนี้ นอกจากลดความแออัดและเพิ่มความสะดวกให้ผู้ป่วยไปรับบริการใกล้บ้านได้แล้ว ยังเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายแฝง เพราะแม้ว่าค่ารักษาพยาบาลรัฐจะจ่ายให้ แต่ถ้าต้องมารับบริการที่โรงพยาบาล ค่าเดินทาง ค่ากิน ค่าอยู่ ผู้ป่วยและญาติก็ต้องจ่ายเองทุกอย่าง ดังนั้นการลดภาระมาที่โรงพยาบาลก็เท่ากับช่วยลดค่าใช้จ่ายโดยอ้อมด้วย
คลินิกกายภาพบำบัดที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทอง สามารถสังเกตได้จากสติ๊กเกอร์ที่ติดหน้าคลินิก จะเป็นคำว่าคลินิกกายภาพบําบัดชุมชนอบอุ่น และมีโลโก้ สปสช. ติดไว้ หรือสามารถโทรศัพท์สอบถามสายด่วน สปสช. 1330 ก็ได้ ว่าในพื้นที่มีคลินิกกายภาพบำบัดให้บริการหรือไม่ และขอให้มั่นใจในเรื่องคุณภาพเพราะคลินิกกายภาพบำบัดที่จะเข้ามาร่วมกับ สปสช. ต้องผ่านเกณฑ์การขึ้นทะเบียนก่อน
โดยต้องไปจดแจ้งกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และเมื่อผ่านมาตรฐานขั้นต้นแล้ว ในการให้บริการจริง สปสช. กำหนดให้ต้องมีนักกายภาพบำบัดอยู่ประจำตลอดเวลาที่เปิดคลินิก ซึ่งในกระบวนการเหล่านี้ สปสช. ทำงานผ่านสภากายภาพบำบัดที่เข้ามาช่วยดูแลเรื่องคุณภาพให้ ดังนั้นมั่นใจได้ว่าคุณภาพการให้บริการจะไม่ต่างกัน
ร่วมป็นหน่วยบริการของสปสช.
ในส่วนของคลินิกกายภาพบำบัดที่สนใจเข้าร่วมให้บริการประชาชนสิทธิบัตรทองนั้น ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช. ยินดีต้อนรับทุกคลินิกที่สนใจ โดยสามารถติดต่อไปยังสภากายภาพบำบัดได้เลย ซึ่งเมื่อได้เข้าทะเบียนเป็นหน่วยบริการของ สปสช. แล้ว สปสช. จะผูกคลินิกฯกับโรงพยาบาลที่ โรงพยาบาลจะทราบว่าตัวเองมีคลินิกไหนบ้างที่สามารถกระจายคนไข้ไปได้บ้าง คนไข้ก็สามารถคลินิกที่ใกล้บ้านมากที่สุด
“นโยบายใหญ่คือ สปสช. ต้องการเชิญชวนภาคเอกชนนำทรัพยากรที่มีมาให้บริการสิทธิบัตรทอง โดย สปสช. ออกแบบการจ่ายเงินให้สมน้ำสมเนื้อ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการใกล้บ้าน ลดค่าใช้จ่ายทางอ้อม อีกทั้งเป็นการนำทรัพยากรของเอกชนที่บางเวลาที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ก็นำมาให้บริการคนไทยด้วยกัน เพื่อให้ใช้ทรัพยากรได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และที่สำคัญที่สุดคือคนไข้ได้ประโยชน์สูงสุด”ทพ.อรรถพร กล่าว
อ่านข่าวเพิ่มติม
- บอร์ด สปสช. เคาะแผน ‘จัดหายา-เวชภัณฑ์โครงการพิเศษ’ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท
- ‘สิทธิบัตรทอง’ สปสช. เผยผลสำรวจ ปี 66 ผู้ใช้บริการ ‘พึงพอใจ’ เพิ่มขึ้นเป็น 98.19%
- ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น แนะใช้ ‘สิทธิบัตรทอง’ ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต รับ ‘วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก’ 10 ก.ย.