Business

วิธียื่นขอรับ ‘เงินชราภาพ’ กองทุนประกันสังคม เช็กรายละเอียดที่นี่

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รีวิวยื่นขอรับ “เงินชราภาพ” จากกองทุนประกันสังคม เช็กเงื่อนไข วิธีขอรับเงินได้ทุกขั้นตอน ที่นี่

ใครอายุครบ 55 ปีแล้ว ยกมือขึ้น อย่าลืมไปขอรับเงินชราภาพคืน โดยจะได้เป็นบำเหน็จ รับเงินก้อนเดียวไปเลย กรณีส่งเงินสมทบไม่เกิน 180 เดือน หรือได้รับเป็นบำนาญ เพราะจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน

กองทุนประกันสังคม

สำหรับสถานที่ทำเรื่องขอรับเงินชราภาพคืน สามารถไปที่ติดต่อได้ที่ สำนักงานประกันสังคม ทั่วประเทศ ยกเว้นที่สำนักงานประกันสังคม สำนักงานใหญ่ นนทบุรีที่ไม่รับทำเรื่องขอรับเงินส่วนนี้คืน

วิธีการยื่นขอรับเงินชราภาพ กองทุนประกันสังคม

การขอรับเงินคืน เพียงเดินทางไปที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน ยกเว้นสำนักงานใหญ่ สามารถบอกจุดประสงค์ กับเจ้าหน้าที่ จากนั้นจะได้รับเอกสารที่เรียกว่า สปส. 2-01 เพื่อกรอกข้อมูล พร้อมนำหลักฐานอย่างบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนา 1 ชุด รวมถึงกรณีหลักฐานการเปลี่ยนแปลง ชื่อ-สกุล หรืออื่น ๆ

ที่สำคัญคือ ช่องที่กรอกขอรับเงิน ควรเป็นพร้อมเพย์ ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และบัญชีเงินฝาก จะได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย ใครที่ยังไม่มีพร้อมเพย์ รีบไปแบงก์สมัครให้ด่วน ๆ เพราะการให้ประกันสังคมโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝาก โดนหักครั้งละ 5 บาท เป็นค่าโอนทุกเดือน

เงินชราภาพ

จากนั้นมาถึงขั้นตอนการกดคิว รอเจ้าหน้าที่เรียกไปตรวจสอบข้อมูล ซึ่งจะแจ้งว่า เราจ่ายเงินสมทบมากี่ปี 15, 20 หรือ 35 ปี จะได้เป็นบำเหน็จหรือบำนาญ ขึ้นกับเงินที่จ่ายสมทบ

นอกจากนี้ การขอรับเงินชราภาพ ต้องทำภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิรับเงินกรณีชราภาพ โดยห้ามเกินแม้แต่วันเดียว เพราะจะถูกตัดสิทธิ์รับเงินบำเหน็จ-บำนาญทันที

แต่หาก ผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 5 ปี ทายาทผู้มีสิทธิ จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญรายเดือน

ส่วนกรณีที่ว่า เมื่อรับเงินบำนาญประกันสังคมแล้ว จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุเมื่ออายุ 60 ปี ขึ้นไปด้วยหรือไม่นั้น คำตอบคือ ได้ ผู้ประกันตนประกันสังคมสามารถรับได้ทั้ง 2 อย่าง คือ เงินชราภาพจากประกันสังคม และ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากรัฐบาล

หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ผู้ประกันตน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/หรือโทร.1506 มีเจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo