Business

จับตา ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ขยับขึ้นครึ่งปีหลัง พ้นครึ่งปีแรกเหล็กปรับลดลง

สนค. คาดดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างครึ่งปีหลังฟื้น ห่วงเศรษฐกิจโลก พลังงาน ดอกเบี้ยขาขึ้นฉุด ส่วนครึ่งปีแรกเพิ่ม 0.4% ชะลอตัวลง จากราคาเหล็กปรับลดตามราคาพลังงานและวัตถุดิบโลก 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือน ในช่วงครึ่งปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) เพิ่มขึ้น 0.4% จากที่เคยเพิ่มขึ้น 4.5% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 (ก.ค.-ธ.ค.) ที่ผ่านมา

ราคาวัสดุก่อสร้าง

ทั้งนี้ เนื่องจากการลดลงของราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักค่อนข้างมากถึง 29.66% หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของน้ำหนักในตะกร้าดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ที่ปรับลดลงตามราคาพลังงานและวัตถุดิบโลก ทั้งน้ำมันดิบ ยางมะตอย และแร่เหล็ก

นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากความต้องการก่อสร้างในประเทศต่าง ๆ ที่ปีนี้คาดว่าจะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก จากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าปี 2565 และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่ยุติ

ส่วนสินค้าในหมวดซีเมนต์และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักต่อดัชนีรวมกันใกล้เคียงกับสินค้าเหล็ก คือ 27.90% ชะลอตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 4 เดือน ทำให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างของไทยช่วงครึ่งปีแรก 2566 จึงชะลอตัวอย่างชัดเจน

ศูนย์วิจัย GlobalData บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลระดับโลก ได้คาดการณ์แนวโน้มภาคการก่อสร้างโลก ปี 2566 ณ เดือน พฤษภาคม 2566 ว่า มีแนวโน้มชะลอตัว โดยคาดว่าจะขยายตัวเพียง 0.8% จาก 2.1% ในปี 2565

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ขณะที่ภาคการก่อสร้างในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จะหดตัว 1.5% เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อระดับราคาและกดดันบรรยากาศการค้าการลงทุน ได้แก่ ยุโรป รัสเซีย อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย ขณะที่ภาคการก่อสร้างในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จะขยายตัว 2.4% ชะลอลงจากปี 2565 ที่ขยายตัว 4.6% เนื่องจากการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังซบเซา

อย่างไรก็ตาม มาตรการส่งเสริมและโครงการก่อสร้างของภาครัฐในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ได้ออกกฎหมาย Inflation Reduction Act ที่ส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และพลังงาน เยอรมนี อินเดีย มีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่งทางถนนและรถไฟ

ประเทศญี่ปุ่น มีการก่อสร้างคลังสินค้าและสถานที่ให้บริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ และโครงการวิศวกรรมโยธา และจีน มีการก่อสร้างเส้นทางคมนาคม พลังงานหมุนเวียน และนิคมอุตสาหกรรม และการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำที่เมืองฉงชิ่ง ทั้งหมดนี้มีส่วนขับเคลื่อนให้ภาคการก่อสร้างของโลกมีโอกาสเติบโต

ประกอบกับอุปทานพลังงานและเหล็กที่มีแนวโน้มตึงตัว ซึ่งอาจทำให้ราคาวัตถุดิบ และราคาวัสดุก่อสร้างในช่วงที่เหลือของปีนี้มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้

shutterstock 105111686

ด้านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ภาคการก่อสร้างของไทยในไตรมาสแรกของปี 2566 ขยายตัว 3.9% เพิ่มขึ้นจาก 2.6% ในไตรมาสก่อนหน้า และปี 2566 คาดว่าภาคการก่อสร้างของไทยจะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่คาดว่าจะสูงขึ้นระหว่าง 2.7–3.7%

ทั้งนี้ มีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนของภาครัฐ และเอกชนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และเมื่อพิจารณาประกอบกับเครื่องชี้วัดภาคการก่อสร้างอื่น ๆ ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ทั้งด้านอุปทาน เช่น การออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ และด้านอุปสงค์ เช่น การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ และการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดของชาวต่างชาติทั่วประเทศ

ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ยังอยู่ในช่วงความเชื่อมั่นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ปรับตัวดีขึ้น แต่ภาคการก่อสร้างของไทยยังคงเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าปี 2565 เช่น ค่าขนส่ง ค่าแรง และค่ากระแสไฟฟ้า

shutterstock 1737200150 1

จากปัจจัยดังกล่าว สนค. คาดว่าภาคการก่อสร้างของไทยมีโอกาสที่จะขยายตัว และจะส่งผลให้ราคาวัสดุก่อสร้าง ไตรมาสที่ 3 และช่วงที่เหลือของปี 2566 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยท้าทายที่อาจส่งผลต่อการเติบโตของภาคการก่อสร้างและกดดันให้ราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวน้อยกว่าที่คาดหรืออาจปรับลดลงได้ เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่กดดันความต้องการพลังงานและวัสดุก่อสร้าง ส่งผลให้ราคาพลังงาน วัตถุดิบ และราคาจำหน่ายวัสดุก่อสร้างลดต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารมีความเข้มงวดขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น จะส่งผลให้กำลังซื้อและการลงทุนของภาคประชาชนและธุรกิจลดลง ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo