Business

กางแผนแม่บท MR-MAP พัฒนา ‘มอเตอร์เวย์-ระบบราง’ 10 เส้นทาง ระยะทาง 3,543 กม.

กรมทางหลวง กางแผนแม่บท MR-MAP พัฒนา “มอเตอร์เวย์-ระบบราง” 10 เส้นทาง ระยะทาง 3,543 กม. ลดพื้นที่เวนคืน 1.35 แสนไร่ ลดค่าเวนคืน 2 แสนล้านบาท

วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อวางรากฐานในการพัฒนาประเทศ รองรับการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

ทำให้หลายโครงการมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องจนเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นที่ประจักษ์ ทั้งทางถนน และทางราง ทั้งนี้ยังได้ติดตามอย่างใกล้ชิดในแผนพัฒนาต่อไปเพื่อรองรับอนาคต

แผนแม่บท MR-MAP

 พัฒนา มอเตอร์เวย์-ระบบราง เชื่อมภูมิภาค และการขนส่ง

ล่าสุดกรมทางหลวง รายงานสรุป (ร่าง) แผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมือง การศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Pre-Feasibility Study) ภายใต้การศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และระบบราง (Motorway-Rail Map) หรือ MR-MAP ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2564 กำหนดส่งผลการศึกษาปลายปี 2566 นี้ จากนั้นจะนำเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบโครงการตามผลศึกษาต่อไป

ทั้งนี้ การศึกษาแผนแม่บท MR-MAP เป็นการปรับปรุงแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองปี 2559 บูรณาการกับแผนพัฒนาระบบราง โดยวางแผนการพัฒนาพร้อมกัน แต่ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างพร้อมกัน โดยขึ้นอยู่กับแผนปฏิบัติการของหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละโครงการ

ซึ่งการวางแผนและก่อสร้างมอเตอร์เวย์ควบคู่กับทางรถไฟไปพร้อมกัน จะทำให้ใช้เขตทางที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ ทั้งโครงการมอเตอร์เวย์ และรถไฟเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการจราจรและขนส่งสูงสุด และเชื่อมโยงโครงข่ายกับประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน ลดการเวนคืนพื้นที่ และการแบ่งแยกชุมชน สามารถพัฒนาความเจริญไปสู่พื้นที่ใหม่ ปรับปรุงการเชื่อมต่อโครงข่าย  เพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค

แผนแม่บท MR-MAP

แผนแม่บท MR-MAP มี 10 เส้นทาง

สำหรับการศึกษาเบื้องต้น แผนแม่บท MR-MAP มี 10 เส้นทาง (แนวเหนือ-ใต้, ตะวันออก-ตะวันตก, เชื่อมต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล) มีระยะทางรวมประมาณ 6,877 กม. (มีโครงข่ายมอเตอร์เวย์ที่เปิดให้บริการแล้ว และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 670 กม.) และมีแผนพัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง 3,543 กม. ประเมินว่าจะลดพื้นที่เวนคืนได้ 135,000 ไร่ และลดค่าเวนคืนได้ประมาณ 2 แสนล้านบาท

สำหรับแผนพัฒนา แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

แผนระยะสั้น 5 ปี เริ่มก่อสร้าง ปี 66-70 จำนวน 9 โครงการ ระยะทางรวม 391 กม. มูลค่า 457,000 ล้านบาท ได้แก่

  1. โครงการส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. ก่อสร้าง ปี 68 เปิดให้บริการปี 71
  2. โครงการบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. ก่อสร้างปี 68 เปิดให้บริการปี 71
  3. โครงการบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 34.10 กม. ก่อสร้างปี 68 เปิดให้บริการปี 71
  4. ทางเชื่อมต่อถนนวงแหวนฯรอบที่ 2 ด้านตะวันตกและตะวันออก ระยะทาง 4.20 กม. ก่อสร้างปี 68 เปิดให้บริการปี 71
  5. เส้นทางนครปฐม-ปากท่อ ระยะทาง 61.02 กม. ก่อสร้างปี 68 เปิดให้บริการปี 72
  6. เส้นทางสงขลา-สะเดา ระยะทาง 69 กม. กำหนดก่อสร้างปี 70 เปิดให้บริการปี 74
  7. ทางพิเศษจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯรอบที่3 (ด้านตะวันออก) ระยะทาง 19 กม. ก่อสร้างปี 67 เปิดให้บริการปี 70
  8. เส้นทางวงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันออกช่วงทล.305-ทล.34 ระยะทาง 52 กม. ก่อสร้างปี 70 เปิดให้บริการปี 73
  9. เส้นทางชุมพร-ระนอง ระยะทาง 94 กม. ก่อสร้าง ปี 70 เปิดให้บริการปี 73

แผนแม่บท MR-MAP

แผนระยะกลาง 10 ปี เริ่มก่อสร้าง ปี 71-75 จำนวน  5 โครงการ ระยะทาง 397 กม. มูลค่า 413,200 ล้านบาท ได้แก่

  1. นครปฐม-สุพรรณบุรีระยะทาง 70.22 กม.
  2. แหลมฉบัง-ปราจีนบุรีระยะทาง 156 กม.
  3. วงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันออก ช่วงทล.32 – ทล.305 ระยะทาง 67.81 กม.
  4. วงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านใต้ ช่วงทล.35 – ทล.35 ระยะทาง 79.07 กม.
  5. วงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันตก ช่วงทล.35 – นครปฐม ระยะทาง 24.26 กม.

แผนระยะยาว 11-20 ปี เริ่มก่อสร้าง ปี 76-85 จำนวน 9 โครงการ ระยะทาง 1,138 กม. มูลค่า 775,900 ล้านบาท  โดยแผนภาพรวมมีดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ (EIRR) 13.77%

ส่วนแผนพัฒนาระบบราง ประกอบด้วย รถไฟทางคู่ รถไฟสายใหม่รถไฟความเร็วสูง โดยกำหนดแผนพัฒนา 3 ระยะ คือ

  1. ระยะ 5 ปี (2566-2570) ระยะทางรวม 2,048 กม. มูลค่าลงทุน 601,500 ล้านบาท
  2. ระยะ 10 ปี (2571-2575) ระยะทางรวม 958 กม. มูลค่าลงทุน 560,600 ล้านบาท
  3. ระยะ 20 ปี (2576-2585) ระยะทางรวม 2,959 กม.

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า การวางโครงสร้างคมนาคมครั้งใหญ่นี้ สะท้อนวิสัยทัศน์ ของพล.อ.ประยุทธ์ ที่เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานควบคู่ไปกับการขยายโอกาสทางด้านการค้า การลงทุน ผลักดันอุตสาหกรรมใหม่และ BCG โมเดล  วางโครงสร้างเพื่ออนาคตประเทศไทย เพื่อประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติ อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนส่งต่ออนาคตที่ดีให้ลูกหลาน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo