Business

ดัชนีเชื่อมั่น SMEs ไตรมาส 2 ท่องเที่ยวดันกระเตื้องเล็กน้อย หวั่นโลว์ซีซันซบต่อ

SME D Bank จับมือ ศศินทร์ เผยผลสำรวจดัชนีเชื่อมั่น SMEs ไตรมาส 2/2566 ปรับขึ้นเล็กน้อย สงกรานต์กระตุ้นท่องเที่ยวคึกคัก ส่วนแนวโน้ม 3 เดือนข้างหน้าคาดลดลง เข้าสู่โลว์ซีซัน

นางสาว กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เผยว่า ศูนย์วิจัยและข้อมูล ธพว.  ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำ ผลสำรวจความเชื่อมั่น SMEs ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ ไตรมาส 2/2566 และคาดการณ์อนาคต

shutterstock 1057559816

ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้ประกอบการ SMEs จำนวนกว่า 500 ตัวอย่างทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกประเภทอุตสาหกรรม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจของ SMEs ในไตรมาส 2/2566 อยู่ที่ระดับ 65.90 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (1/2566) ซึ่งอยู่ในระดับ 65.09

การที่ดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น มาจากปัจจัยการจับจ่ายใช้สอยคึกคัก ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้ง มีความคาดหวังต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังการเลือกตั้ง

SME D Bank 1

ส่วนแนวโน้มดัชนีเชื่อมั่น SMEs 3 เดือนข้างหน้า มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ อยู่ที่ระดับ 65.61 ลดลงจากเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ที่อยู่ระดับ 66.76 เนื่องจากปัจจัยเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซัน (Low Season) ของการท่องเที่ยว มีแนวโน้มที่ลูกค้าจะจับจ่ายน้อยลง

นอกจากนี้ SME D Bank ได้ศึกษาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเมื่อตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา พบว่า SMEs จำนวน 39.8% จ่ายค่าแรงสูงกว่าเกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำที่ประกาศใช้เมื่อตุลาคม 2565 อยู่แล้ว โดยเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางเป็นหลัก

ส่วนที่เหลืออีก 60.2% จำเป็นต้องมีการปรับค่าแรงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มขนาด Micro 63.12% และขนาด Small 72.27% ส่วนขนาด Medium มีเพียง 5% เท่านั้นที่ต้องปรับขึ้น

ขณะที่ SMEs ในพื้นที่ภาคอีสาน มีสัดส่วนต้องปรับค่าแรงขึ้นมากสุด คิดเป็นสัดส่วน 81.11%

เมื่อถามถึงผลกระทบที่จะได้รับ 85.31% ระบุว่า ได้รับผลกระทบทางลบ โดยส่วนใหญ่ 52.98% ได้รับผลกระทบระดับปานกลาง ส่วน 9.93% ได้รับผลกระทบมาก ในทางกลับกัน SMEs จำนวนหนึ่งเห็นถึงข้อดีของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

SME D Bank 2

ทั้งนี้ SMEs มีแนวทางในการปรับตัวเพื่อรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดย 97.35% จะลดต้นทุนในส่วนอื่น ๆ ส่วนอีก 70.86% ขึ้นราคาสินค้าและบริการ และ 21.85% เปลี่ยนไปจ้างแรงงานต่างด้าวที่ค่าจ้างต่ำทดแทน

ในเรื่องความช่วยเหลือที่ต้องการจากภาครัฐ ได้แก่ การลดภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ทดแทน สูงที่สุดถึง 93.38% ตามด้วย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม 76.82% เพื่อช่วยชดเชยผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ด้านผลสำรวจสิ่งที่ SMEs ต้องการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ในปี 2566 นั้น ในส่วนการตลาด กลุ่มขนาด Micro ส่วนใหญ่ 74.78% ต้องการมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายในประเทศ ในขณะที่กลุ่มขนาด Small ส่วนใหญ่ 61.86% ต้องการผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาแนะนำ และกลุ่ม Medium ส่วนใหญ่ 63.33% ต้องการสนับสนุนเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

เมื่อถามถึงด้านเทคโนโลยี กลุ่มขนาด Micro ส่วนใหญ่ 84.96% อยากได้การสนับสนุนแบบร่วมจ่าย (Co-payment) เพื่อช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการลงทุนเทคโนโลยี ในขณะที่ ขนาด Small และ Medium 67.44% และ 58.33% ต้องการให้สนับสนุนการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล สำหรับผู้ประกอบการ

นารถนารี รัฐปัตย์
นารถนารี รัฐปัตย์

ขณะที่ประเด็นการบริหารจัดการต้นทุน SMEs ส่วนใหญ่ทุกกลุ่ม 91.22% ต้องการให้ภาครัฐ ลด ตรึง อุดหนุนค่าพลังงาน และ 52.5% อยากให้สนับสนุนการติดตั้งพลังงานทางเลือกเพื่อลดต้นทุนพลังงาน

จากผลสำรวจที่ความเชื่อมั่นปัจจุบันเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และคาดการณ์ในอนาคต กลับลดลง สะท้อนว่า SMEs ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ในการดำเนินธุรกิจ จากปัจจัยความไม่แน่นอนรอบตัว และปัจจัยกำหนดความเชื่อมั่นของ SMEs ล้วนเป็นปัจจัยระยะสั้น ซึ่งส่งผลให้ SMEs ยังขาดความมั่นใจที่จะลงทุนขยายธุรกิจ

ทั้งนี้ SMEs ยังคงกังวลต่อภาระต้นทุนธุรกิจที่คาดจะเพิ่มขึ้นในอนาคต จากค่าพลังงาน และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ดังนั้นจึงต้องการให้ภาครัฐ มีมาตรการช่วยเหลือ เพื่อลดต้นทุนธุรกิจ หรือสนับสนุนในการเข้าถึง หรือใช้เทคโนโลยี เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในธุรกิจ

สำหรับ SME D Bank ได้จัดเตรียมแนวทางช่วยเหลือด้านการเงิน ควบคู่การพัฒนา เพื่อจะตอบความต้องการของ SMEs ได้ครบถ้วนที่สุด โดยด้านการเงิน มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เช่น BCG Loan เพื่อนำไปยกระดับปรับเปลี่ยนเครื่องจักร หรือลงทุนเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก วงเงินกู้สูงสุดถึง 50 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุดถึง 15 ปี เป็นต้น

ด้านการพัฒนา ให้การสนับสนุนผ่านการดำเนินโครงการ SME D Coach โดยมีเครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ ช่วยเสริมศักยภาพธุรกิจ เช่น เครื่องมือ Business Health Check ช่วยให้ SMEs เข้าใจศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจได้ดีขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo