คนกรุงเทพ แห่ทดลองใช้ “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง” เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า หลังขยายเส้นทาง-ขยายเวลาให้บริการ 19 มิ.ย. เปิดครบ 23 สถานี
วันที่13 มิถุนายน 2566 ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการความคืบหน้าการเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองว่า หลังจากการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง 13 สถานี ช่วงระหว่างสถานีหัวหมากถึงสถานีสำโรง ที่ผ่านมานั้น มีกระแสตอบรับที่ดีมาก
ทำให้เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 จึงขยายระยะทางให้ประชาชนร่วมทดสอบการให้บริการเพิ่มเติมอีก 9 สถานี ได้แก่ สถานีภาวนา สถานีโชคชัย 4 สถานีลาดพร้าว 71 สถานีลาดพร้าว 83 สถานีมหาดไทย สถานีลาดพร้าว 101 สถานีบางกะปิ สถานีแยกลำสาลี และสถานีศรีกรีฑา ทำให้ตอนนี้มีการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ รวม 22 สถานี (สถานีภาวนาถึงสถานีสำโรง) รวมทั้งขยายช่วงเวลาการทดลองให้บริการจาก 09.00 – 20.00 น. ขยายเป็น 06.00 – 20.00 น.
ขยายเวลา-ขยายเส้นทาง ประชาชนใช้บริการเพิ่ม
จากการขยายทั้งเส้นทางและระยะเวลาดังกล่าว ทำให้มีประชาชนให้ความสนใจมาทดลองใช้บริการเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยตัวเลขจำนวนผู้ใช้บริการเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 (วันแรกของการขยายเส้นทางและเวลา) มีจำนวนสูงถึง 44,353 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับวันธรรมดาของการเปิดทดลองให้บริการในช่วงแรก
สาเหตุเพราะ ช่วงเวลาที่ขยายเพิ่มขึ้นเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนที่ประชาชนเดินทางไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ หรือการไปธุระอื่นๆ ทำให้ประชาชน นักเรียน เลือกใช้ระบบรถไฟฟ้า เพื่อหนีปัญหาการจราจรติดขัด
แนะใช้บัตร EMV ลดค่าใช้จ่ายแรกเข้าเชื่อมระบบสายสีเหลือง-สีน้ำเงิน
ดร.พิเชฐฯ กล่าวต่อว่า จากการเปิดทดลองให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง กรมการการขนส่งทางรางได้ดำเนินการสำรวจแนวถนนศรีนครินทร์ไปจนถึงถนนลาดพร้าว พบว่าการจราจรมีความคล่องตัวขึ้น โดยจะดำเนินการเร่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบคืนผิวถนนให้เร็ว เพื่อให้สามารถใช้ช่องจราจรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
และภายในสัปดาห์นี้เจ้าหน้าที่จะลงตรวจความเรียบร้อยของสถานีของโครงการsถไฟฟ้าสายสีเหลือง ทั้งส่วนทางขึ้น-ลง ตู้หรือห้องจำหน่ายบัตร สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้การให้บริการมีความพร้อมมากที่สุด
ในส่วนของค่าโดยสารการใช้บริการsถไฟฟ้าสายสีเหลืองสามารถใช้บัตรเครดิต/เดบิต EMV Contactless (Europay, MasterCard and VISA) ในการแตะชำระค่าโดยสารได้ ซึ่งรองรับบัตรเครดิตของทุกธนาคาร แต่ส่วนบัตรเดบิตปัจจุบันสามารถใช้บัตรเดบิตของธนาคารกรุงไทย และธนาคารยูโอบี ส่วนธนาคารอื่นๆ อยู่ระหว่างการพัฒนาให้รองรับได้
โดยการชำระค่าโดยสารด้วยการใช้บัตร EMV จะเป็นเป็นทางเลือกให้ประชาชนที่ในการลดภาระค่าใช้จ่ายจากค่าแรกเข้า หากต้องเปลี่ยนระบบรถไฟฟ้าระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินประมาณ 15 บาท และหากประชาชนเดินทางด้วยรถไฟฟ้าทั้งขาไปและกลับจะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายค่าแรกเข้าประมาณ 30 บาทต่อวัน หรือราว 600 บาทต่อเดือน
19 มิ.ย.นี้เปิดครบ 23 สถานี
ดร.พิเชฐ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ จะเปิดให้บริการตลอดสายครบ 23 สถานี จากสถานีลาดพร้าว-สถานีสำโรง โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดให้ประชาชนร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) และจะร่วมใช้บริการไปกับประชาชนจากสถานีลาดพร้าวถึงสถานีศรีเอี่ยม
กรมการการขนส่งทางรางเชื่อมั่นว่า การเปิดให้บริการsถไฟฟ้าสายสีเหลือง รวมถึงสายสีต่าง ๆ ที่กำลังจะเปิดให้บริการในอนาคตจะมีส่วนช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัย สร้างความสุขการเดินทางระบบรางให้กับคนไทย
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ย้ำ 3 มิ.ย. นั่งฟรี ‘sถไฟฟ้าสายสีเหลือง’ ก่อนเก็บค่าบริการ เดือนก.ค.
- 3 มิ.ย. คนกรุงเตรียมนั่ง ‘sถไฟฟ้าสายสีเหลือง’ ฟรี 1 เดือน
- รฟม. เปิดตัว ‘PAPA Care’ รณรงค์ผู้ใช้รถไฟฟ้า MRT เอื้อเฟื้อที่นั่งแก่กลุ่มบุคคลพิเศษ