Business

ครม. ไฟเขียวเพิ่มงบลงทุนพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก แก้ปัญหาสนามบินอู่ตะเภาล่าช้า

ครม. รับทราบผลการแก้ไขปัญหาโครงการสนามบินอู่ตะเภา พัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก เดินหน้าผลักดันเป็นจุดหมายปลายทางการเดินทางของไทย และภูมิภาคเอเชีย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (6 มิถุนายน 2566) รับทราบรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการพัฒนา สนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก (กพอ.)

พัฒนาเมืองการบิน

ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 30 ตุลาคม 2561 มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น ในรูปแบบ PPP Net Cost

จากนั้นในช่วงปี 2564-2565 เอกชนคู่สัญญา ขอใช้สิทธิผ่อนผันตามข้อ 13 ของสัญญาร่วมลงทุน จากความผันผวนทางเศรษฐกิจ รวมถึงกรณีเกิดโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกัน เพื่อพิจารณาเหตุผ่อนผันรวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาและสามารถหาข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้

1. การร่วมกันผลักดันการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) เห็นควรผลักดันให้มีการลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางที่มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์โดดเด่น และมีความสำคัญในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะเพิ่มปริมาณการเดินทางให้สูงขึ้นได้โดยเร็วและอย่างยั่งยืน

เมืองการบิน

ทั้งนี้ เห็นควรให้เอกชนเพิ่มการลงทุนในการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก (EasternAirportCity) จากเดิมประมาณ 4,500 ล้านบาทเป็น ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาโครงการฯ กรรมสิทธิ์ในงานพัฒนาเมืองการบินฯ ทั้งหมดจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ

ทั้งนี้ สกพอ. จัดให้มีมาตรการสนับสนุนทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี ในการประกอบกิจการ การทำงาน และการอุปโภคบริโภค และในด้านการบินและโลจิสติกส์ ให้มีผลใช้บังคับและสามารถเริ่มใช้ประโยชน์ในมาตรการสนับสนุนทั้งหมดดังกล่าวได้ภายในระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่เริ่มนับระยะเวลาโครงการฯ และจะมีการทบทวนพัฒนามาตรการ สนับสนุนดังกล่าวทุก ๆ 10 ปี

2. สกพอ. จะใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดในการสนับสนุนเอกชนคู่สัญญาแก้ไขปัญหา ทางการเงินที่เกิดขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา

อู่ตะเภา3

สกพอ. จะพยายามอย่างดีที่สุด (Best Efforts) โดยสุจริตภายใต้กฎหมายและ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ในการสนับสนุนการจัดหาแหล่งเงินกู้ของเอกชน ในการดำเนินโครงการฯ ให้ได้เงื่อนไขที่ดีกว่าตลาดของสถาบันทางการเงินเอกชนทั่วไป และใกล้เคียงกันกับโครงการของรัฐที่มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกันจนกว่า ผลกระทบจะสิ้นสุดลง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือของโครงการฯ

3. การปรับหลักเกณฑ์การพัฒนางานหลักของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา

คู่สัญญาตกลงปรับระยะการพัฒนางานหลักของสนามบินอู่ตะเภา เช่นอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ศูนย์การขนส่งภาคพื้น การให้บริการภาคพื้นดิน เป็นต้น จากเดิมกำหนดไว้ 4 ระยะ เปลี่ยนเป็น 6 ระยะ (ขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ระยะที่ 1 จำนวน 12 ล้านคน/ปื ระยะที่ 2 จำนวน 15.9 ล้านคน/ปื ระยะที่ 3 จำนวน 22.4 ล้านคน/ปื ระยะที่ 4 จำนวน 30 ล้านคน/ปื ระยะที่ 5 จำนวน 45 ล้านคน/ปื และระยะที่ 6 จำนวน 60 ล้านคน/ปื)

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารของแต่ละระยะสอดคล้อง กับประมาณการผู้โดยสารที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในระยะแรกจะพัฒนาให้งานหลักฯ มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ไม่น้อยกว่า 12 ล้านคน/ปี และจะลงทุนในระยะถัดไป (ระยะที่ 2 – 6) เมื่อมีปริมาณผู้โดยสารถึง 80% ของขีดความสามารถ ในการรองรับของระยะปัจจุบัน และยังกำหนดเป้าหมายรองรับผู้โดยสารในปีสุดท้ายได้ 60 ล้านคน/ปีเท่าเดิม

4. ปรับหลักเกณฑ์การจัดสรรรายได้ของเอกชนคู่สัญญา

คู่สัญญาตกลง ให้ปรับหลักเกณฑ์การจัดสรรรายได้ของเอกชนคู่สัญญาในช่วงเวลาตามเงื่อนไข โดยจัดลำดับรายการ ที่เอกชนคู่สัญญาต้องชำระ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ค่าเช่าท่ีดินให้รัฐ การชำระคืนดอกเบี้ย และเงินต้นของเงินกู้และส่วนแบ่งรายได้รัฐ เพื่อให้โครงการฯ สามารถดำเนินต่อไปได้ โดยเอกชนคู่สัญญาสามารถชำระรายได้ของรัฐได้อย่างเหมาะสม เป็นธรรม และสอดคล้องกับหลักความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน

อู่ตะเภา

การจัดสรรรายได้ใหม่ ตามแนวทางแก้ปัญหาฯ ดังนี้

  • ลำดับที่ 1 ค่าใช้จ่าย ในการดำเนินโครงการ
  • ลำดับที่ 2 ค่าเช่าที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง ของรัฐ
  • ลำดับที่ 3 ชำระ ดอกเบี้ย + เงินต้น
  • ลำดับที่ 4 เงินสดสำรองตามมาตรฐาน การชำระ คืนเงินกู้
  • ลำดับที่ 5 ส่วนแบ่ง รายได้ให้รัฐ (5% ของรายได้)
  • ลำดับที่ 6 ผลตอบแทน ให้รัฐเพิ่มเติม ตามซองข้อเสนอ +รายได้รัฐ ที่ค้างชำระ

การบังคับใช้หลักเกณฑ์การจัดสรรรายได้ข้างต้นจะสิ้นสุดเมื่อ

(1) จำนวน ผู้โดยสารรายปีสะสมที่เกิดขึ้นจริง มีจำนวนเท่ากับการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารตามข้อเสนอ ทางด้านเทคนิคของเอกชนคู่สัญญา

(2) เอกชนคู่สัญญาได้ชำระเงินให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกลำดับการชำระครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การจัดสรรรายได้ข้างต้นแล้ว รวมทั้งสถานะทางการเงินของเอกชนคู่สัญญาไม่อยู่ในสถานะผิดเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ (No Default) และไม่อยู่ในสถานะที่ผู้ให้กู้เงินเริ่มใช้สิทธิเร่งรัดชำระหนี้เงินกู้

5. การเลื่อนวันเริ่มนับระยะเวลาให้บริการและบำรุงรักษาโครงการฯ

หากมีการก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ แต่ปริมาณผู้โดยสารมีไม่ถึง 5.6 ล้านคน/ปี ให้เลื่อนการเริ่มนับระยะเวลาปีที่ 1 ในปีที่มีปริมาณ ผู้โดยสารต่อปี จำนวน 5.6 ล้านคน โดยช่วงเวลาที่ยังไม่มีการเริ่มนับปีที่ 1 นั้น ให้เอกชนคู่สัญญา ชำระค่าตอบแทนรัฐ ดังนี้

(1) ชำระค่าเช่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างแก่รัฐจำนวน 100 ล้านบาท/ปี จากเดิม 820 ล้านบาท/ปีในช่วง 3 ปีแรกของการให้บริการและการบำรุงรักษาโครงการฯ และเพ่ิมขึ้น ทุก ๆ 3 ปี จนสิ้นสุดระยะเวลาโครงการฯ

อู่ตะเภา1

(2) ชำระรายได้ของรัฐ 100 ล้านบาท/ปี จากเดิม 1,300 ล้านบาท ในปีที่1 และเพิ่มขึ้นในปีถัดไปทุกปีจนสิ้นสุดระยะเวลาโครงการฯ และ

(3) ชำระรายได้ของรัฐแก่ สกพอ. เป็นจำนวนเท่ากับกระแสเงินสดคงเหลือ จากการดำเนินโครงการฯ ภายหลังการชำระดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นที่จำเป็นต้องชำระตามสัญญาเงินกู้แล้ว ท้ังนี้ ไม่เกินร้อยละ 5 ของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในปีน้ัน ๆ ของเอกชนคู่สัญญา

ส่วนประโยชน์ที่ได้รับจากการเยียวยาผลกระทบตามหลักการแก้ไขปัญหาข้างต้นนั้น  นอกจากจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการลงทุนในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาในระยะที่ปริมาณผู้โดยสารยังได้รับผลกระทบ ยังเพิ่มความยืดหยุ่นให้เอกชนคู่สัญญาสามารถดำเนินโครงการฯ ได้โดยที่รัฐยังได้รับชำระ ส่วนที่เป็นรายได้ของรัฐ ตามจำนวนเดิมพร้อมค่าเสียโอกาส

ขณะเดียวกัน ยังเดินหน้าผลักดันโครงการฯ ให้เป็นจุดหมายปลายทาง (Destination) ในการเดินทางของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย เพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ใกล้เคียงในระยะยาว และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ ฯ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo