กรมที่ดิน ปรับปรุงระเบียบ “ขายฝากที่ดิน” หากจ่ายหนี้ครบ ได้รับกรรมสิทธิ์คืนทันที ออกโฉนดใหม่ใน 30 วัน แก้ปัญหา ผู้ซื้อฝากเบี้ยวไม่ยอมคืนโฉนด
วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมที่ดินได้ปรับปรุงระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการวางทรัพย์สินไถ่ฯ ในการทำสัญญาขายฝาก
จ่ายหนี้ครบตามสัญญา ได้กรรมสิทธิที่ดินคืนทันที
โดยหากผู้ขายฝากได้ชำระสินไถ่ หรือวางทรัพย์ที่สำนักงานที่ดินแล้ว รวมทั้งเมื่อเจ้าพนักงานมีหนังสื้อแจ้งผู้ซื้อฝากให้มารับเงินและนำเอกสารสิทธิ์ (โฉนด) มาจดทะเบียนไถ่จากการขายฝากแล้ว ถ้าผู้ซื้อฝากไม่มาติดต่อ หรือมาแต่ไม่เอาเอกสารสิทธิ์มาด้วยภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
เจ้าพนักงานสามารถออกใบแทนเอกสารสิทธิ์ให้แก่ผู้ขายฝากได้ทันที ซึ่งหมายความว่าจากนี้ไปผู้ขายฝากที่จ่ายหนี้ตามสัญญาครบแล้ว จะได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินคืนทันที แม้ว่าผู้ซื้อฝากจะไม่ยอมคืนโฉนด
นายอนุชาฯ กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินการด้านการปรับปรุงกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้กฎระเบียบที่เป็นไปตามเจตนาของกฎหมาย และเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม โปร่งใส เป็นธรรม
ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ ณ สำนักงานที่ดิน ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองประชาชน ในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562 (ระเบียบวางทรัพย์.pdf (dol.go.th)) เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรา 18 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562 ตามคำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย
คุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝาก
โดยได้เพิ่มข้อความในข้อ 9 วรรคสอง ปรากฏตามระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ ณ สำนักงานที่ดิน ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝาก ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ดังนี้
เมื่อผู้ขายฝากได้ชำระสินไถ่หรือวางสินไถ่ ณ สำนักงานที่ดิน โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้แล้ว ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินมีคำสั่งรับวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ และได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ซื้อฝากทราบ พร้อมกับให้มารับเงินอันเป็นสินไถ่ และนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมาจดทะเบียนไถ่จากขายฝากตามข้อ 8 แล้ว หากพ้นกำหนดระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันได้รับแจ้ง หรือพ้นระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ถือว่าได้รับแจ้งตามมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
แต่ผู้ซื้อฝากไม่มาโดยไม่ติดต่อหรือแจ้งเหตุขัดข้อง หรือมาแต่ไม่ส่งมอบหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินฝากขาย ให้ถือว่าหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเดิมเป็นอันตราย อยู่ในหลักเกณฑ์ที่สามารถออกใบแทนเพื่อจดทะเบียนไถ่จากขายฝากให้ผู้ขายฝากได้ ตามนัยมาตรา 63 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ข้อ 17 (1) ทั้งนี้ การดำเนินการออกใบแทนเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- รัฐบาล เตือน! อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพ อ้างเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ‘สำรวจผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง’
- ชัชชาติ เสนอรัฐบาลใหม่ ทบทวน ‘ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง’ หลังรายได้ลด ยกเคสห้างฯ ดัง เสียภาษีลดลง 10 เท่า
- กทม.ย้ำ 50 เขต เก็บ ‘ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง’ อย่างเป็นธรรม หลังพบการทุจริตเรียกรับสินบนเลี่ยงจ่ายภาษี