SCB EIC มองเศรษฐกิจไทยกลับไปเท่าก่อนโควิดได้ช่วงกลางปีนี้ ชี้ภาคการท่องเที่ยว-บริโภคภาคเอกชน หนุนฟื้นตัว จับตาแผนจับขั้วรัฐบาลใหม่
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปีนี้ ขยายตัวต่อเนื่อง 2.7% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และสูงกว่าตลาดคาดที่ 2.3%
หากเทียบไตรมาสก่อนหน้า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกขยายตัวได้ 1.9% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ฟื้นตัวดี หลังการเปิดประเทศของจีน
ขณะที่การส่งออกสินค้า และการอุปโภคบริโภคภาครัฐ เป็นปัจจัยสำคัญฉุดเศรษฐกิจในไตรมาส 1
เมื่อพิจารณากิจกรรมเศรษฐกิจด้านภาคการผลิต (Production approach) หลายภาคเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง นำโดยภาคบริการที่ขยายตัวสูง จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยแล้วกว่า 6.5 ล้านคนในไตรมาสแรกของปีนี้
ประกอบกับภาคเกษตรที่ขยายตัวเร่งขึ้น ตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่องตามการหดตัวของการผลิตเพื่อส่งออก
ทั้งนี้ SCB EIC มองเศรษฐกิจไทยกลับไปเท่าช่วงก่อนโควิดได้ประมาณกลางปีนี้ และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากแรงส่งภาคการท่องเที่ยว
ขณะเดียวกัน ยังประเมินเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดี จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนและอาเซียน
อีกทั้ง การท่องเที่ยวในประเทศ เติบโตตามความต้องการท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ภาคบริการในภาพรวม โดยเฉพาะบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง ปรับตัวดีขึ้น
นอกจากนี้ เชื่อว่าการบริโภคภาคเอกชน ยังมีแนวโน้มขยายตัวดี โดยเฉพาะไตรมาส 2 ที่มีเม็ดเงินหาเสียงช่วงเลือกตั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี แม้การส่งออกยังน่าห่วงและมีแนวโน้มหดตัวในครึ่งแรกของปีตามทิศทางเศรษฐกิจ และการค้าโลกที่ยังไม่สดใส จนอาจกดดันการลงทุนและการผลิตเพื่อส่งออกได้ แต่การส่งออกมีแนวโน้มทยอยปรับดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี จากอานิสงส์การฟื้นตัวของอุปสงค์ในจีนหลังเปิดประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่จะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
จับตาผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
ผลการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเป็นปัจจัยที่ต้องจับตา ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยในกรณีฐาน SCB EIC มองการเลือกตั้งและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะส่งผลกระทบไม่มากต่อเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี
ทั้งนี้ เนื่องจาก พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี 2566 ได้ครอบคลุมการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐจนถึงสิ้นไตรมาส 3 ของปี 2566 แล้ว หน่วยงานภาครัฐจึงสามารถดำเนินการตามนโยบายและโครงการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้แล้วได้เป็นปกติ
อย่างไรก็ดี SCB EIC คาดว่า จะเริ่มเห็นผลกระทบด้านลบชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 จากความไม่แน่นอนของระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี 2567 ส่งผลให้มีเม็ดเงินสนับสนุนเศรษฐกิจจากภาครัฐเพิ่มเติมได้ไม่มากนัก โดยคาดว่านโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ จะมีผลกระทบสู่เศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป
ผู้เขียน: วิชาญ กุลาตี นักวิเคราะห์ และ ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘สภาพัฒน์’ คงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 2.7-3.7% ท่องเที่ยวช่วยหนุน
- ‘โฆษกรัฐบาล’ อวดเศรษฐกิจไทยดี! คาด GDP ครึ่งปีหลังจะขยายตัวมากกว่า 4%
- ส่งออกชะลอตัว! คลังหั่นเป้าเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโต 3.6% จากเดิมคาดโต 3.8%