Business

หนุนอบรม ‘เพิ่มทักษะแรงงาน’ รองรับ ‘อุตสาหกรรมดิจิทัล’ ตั้งเป้าพัฒนาแรงงานปีละกว่า 2 หมื่นคน

หนุนอบรม “เพิ่มทักษะแรงงาน” รองรับ “อุตสาหกรรมดิจิทัล” ตั้งเป้าพัฒนาแรงงานปีละกว่า 2 หมื่นคน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

วันนี้ (วันที่ 25 เมษายน 2566) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการจัดฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัลให้แก่แรงงาน เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของแรงงาน รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัล ภายหลังสถานการณ์โควิด-19

ซึ่งหลายหน่วยงานมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในองค์กรมากขึ้น เพื่อสอดคล้องตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561 – 2580) ภายใต้รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งกำหนดเป้าหมายพัฒนาประเทศไทยให้เข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 และพัฒนาคนในประเทศให้เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีความรู้ความสามารถ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปฏิบัติงานและใช้ในชีวิตประจำวัน

เพิ่มทักษะแรงงาน

 อบรมเพิ่มทักษะแรงงานด้านดิจิทัล ตั้งเป้าปีละกว่า 2 หมื่นคน

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ดำเนินการจัดฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัลให้แก่แรงงาน ทั้งในรูปแบบ Online และ Onside ผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบทั่วประเทศ โดยหลักสูตรที่ได้รับความนิยมมากในปี 2566 ได้แก่ หลักสูตรการใช้โปรแกรม Microsoft Excel Advance หลักสูตรการใช้สมาร์ทโฟนเพื่อธุรกิจออนไลน์ หลักสูตรการพัฒนาโปรแกรมภาษา JavaScript ด้วย NodeJS หลักสูตรการใช้งาน Google application เพื่อเชิงธุรกิจ และหลักสูตรการพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวในงานแอปพลิเคชันประมวลผลด้วยภาษา Python

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานตั้งเป้าหมายพัฒนากำลังแรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลในปี 2566 จำนวน 23,214 คน และปี 2567 จำนวน 27,754 คน โดยเน้นอาชีพใหม่ด้านดิจิทัลที่จะเกิดขึ้น เพื่อรองรับความต้องการแรงงานด้านดิจิทัลได้อย่างทันท่วงที

เพิ่มทักษะแรงงาน

ชวนแรงงานอบรมผ่านระบบออนไลน์

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตอบรับ และดำเนินการตามแนวนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่ เร่งพัฒนาและยกระดับทักษะความสามารถของแรงงาน เพื่อรองรับตลาดในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในเรื่ององค์ความรู้ และการพัฒนาเทคโนโลยี

ซึ่งการฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัลให้แก่แรงงานถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้แรงงานสามารถปรับตัวได้เร็วขึ้น มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ รวมถึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล ซึ่งสุดท้ายทุกนโยบายที่ดำเนินการไปจะส่งผลเห็นประโยชน์ที่ประชาชน และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

เพิ่มทักษะแรงงาน

ทั้งนี้ รัฐบาลเชิญชวนผู้สนใจเข้ารับการฝึกอบรมผ่านระบบออนไลน์ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (DSD Online Training) โดยลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ DSD Online Training หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ สถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล (DiSDA) สถาบันและสำนักพัฒนาฝีมือแรงงาน ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo