Business

เอาจริง!! ‘กรมทางหลวง’ เข้มจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินกฎหมายกำหนด

กรมทางหลวง งัดมาตรการคุมเข้ม จับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินตามที่กฎหมายกำหนด ตั้งสถานีตรวจสอบน้ำหนักบนทางหลวงสายหลักครอบคลุมทั่วประเทศ

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดี กรมทางหลวง เปิดเผยว่า สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ ได้รวบรวมสถิติปี 2565 ถนนประเทศไทย มีระยะทาง 702,965.069 กิโลเมตร

รถบรรทุกน้ำหนักเกิน

ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ปี 2565 พบว่าถนน 85.56% ส่วนใหญ่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกำกับดูแลโดย กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร รวมเป็นระยะทาง 601,427.24 กิโลเมตร กรมทางหลวงชนบท 49,123.785 กิโลเมตร การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 224.600 กิโลเมตร

สำหรับระยะทางในความรับผิดชอบของ กรมทางหลวง ระยะทางรวม 52,204.42 กิโลเมตร คิดเป็น 7.43% ของพื้นที่ทั้งหมด

ทั้งนี้ จำนวนรถบรรทุกสะสม ในประเทศไทย มีทั้งสิ้น 1,217,719 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 กรมการขนส่งทางบก) รถบรรทุกที่วิ่งเข้าชั่งสถานีตรวจสอบน้ำหนักปีงบประมาณ 2565 มีทั้งหมด 30,418,851 คัน คิดเฉลี่ยต่อวัน ประมาณ 83,339 คัน/วัน

รถบรรทุก

ปัจจุบัน สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ มีสถานีตรวจสอบน้ำหนัก บนทางหลวงสายหลักทั่วประเทศที่เปิดใช้งาน 97 สถานี และชุดเฉพาะกิจส่วนกลางจำนวน 12 ชุด ชุดเฉพาะกิจส่วนภูมิภาคประจำแต่ละสถานี 97 ชุด

ขณะที่ สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ ได้มีการตรวจสอบบรรทุกที่เข้าชั่งน้ำหนักที่สถานีทุกคัน และมีการใช้งานเทคโนโลยีระบบการตรวจสอบน้ำหนักเข้ามาช่วย ในการคัดกรองรถบรรทุกที่คาดว่ามีน้ำหนักเกินให้เข้าชั่งที่สถานีตรวจสอบน้ำหนัก และมีการออกสุ่มตรวจสอบไปตามเส้นทางหลวงในแต่ละจังหวัด

รถบรรทุก4

สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ ได้ยึดหลักมาตรการ 5 ป. ของกรมทางหลวง ในการปฏิบัติงาน คือ

ป.ที่ 1 ป.ป้องปราม

จัดตั้งสถานีตรวจสอบน้ำหนักบนทางหลวงสายหลักให้ครอบคลุม โครงข่ายทั่วประเทศ โดยดำเนินการตรวจสอบและจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินตลอด 24 ชั่วโมง โดยปัจจุบันมีสถานีตรวจสอบน้ำหนักทั้งหมด 97 แห่ง

ป.ที่ 2 ป.ปราบปราม

จัดตั้งหน่วยเครื่องชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ (spot check) ออกดำเนินการสุ่มตรวจและควบคุมรถบรรทุกน้ำหนัก ไม่ให้เกินกว่ากฎหมายกำหนด บนทางหลวงสายหลัก หรือ บนทางหลวงสายรอง หรือ หรือ บนทางหลวงที่ไม่มีสถานีฯ หรือ บนหลวงทางที่เป็นเส้นทางหลบเลี่ยงสถานีฯ โดยมี ชุดเฉพาะกิจส่วนกลาง 12 ชุด และชุดเฉพาะกิจของส่วนภูมิภาค 97 ชุด (ทุกสถานีฯ)

รถบรรทุก1

ป.ที่ 3 ป.ป้องกัน

มาตรการป้องกันการทุจริตของเจ้าหน้าที่ ดังนี้

  • ศูนย์ควบคุมกลางคอยติดตามควบคุมการปฏิบัติงานของสถานีตรวจสอบน้ำหนักตลอด 24 ชั่วโมง
  • ติดตั้งระบบป้องกันรถไม่เข้าชั่งที่สถานี
  • สับเปลี่ยนหมุนเวียนหัวหน้าสถานีฯ/หัวหน้าชุด ไม่เกิน 1 ปี

ป.ที่ 4 ป.ปลอดภัย

อำนวยความปลอดภัยให้กับรถบรรทุก และประชาชนผู้ใช้ทาง ดังนี้

  • จุดจอดพักรถบรรทุก (Truck Rest Area) ปัจจุบันเปิดใช้งาน 21 แห่ง
  • จุดบริการทั่วไทยช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่/สงกรานต์
  • การขออนุญาตเดินรถพิเศษเพื่อควบคุมการเดินรถที่มีขนาดใหญ่พิเศษ

รถบรรทุก3

ป.ที่ 5 ป.ประชาสัมพันธ์

การประชาสัมพันธ์เชิงรุก ในรูปแบบต่างๆ ให้กับผู้ขับขี่รถบรรทุก ประชาชนผู้ใช้ถนนให้ทราบถึงข้อกฎหมาย มาตรการ นโยบาย ความสำคัญของการควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกให้เป็นไปตามกฎหมายผลเสียจากการบรรทุกน้ำหนักเกิน

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้ผู้ใช้ทางช่วยสอดส่องดูแลรถบรรทุกน้ำหนักเกินวิ่งบนทางหลวง หากผู้ประกอบการขนส่งต้องการสอบถามข้อมูลน้ำหนักรถบรรทุกเพิ่มเติม หรือประชาชนประสงค์จะแจ้งเบาะแสรถน้ำหนักบรรทุกเกินในเส้นทางต่าง ๆ บนทางหลวง สามารถติดต่อได้ที่

  • สายด่วนกรมทางหลวง 1586 กด 5 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง)
  • Facebook ,LINE, twitter ของสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo