Business

ตั้ง ‘ศูนย์บริหารจัดการตู้และขบวนรถไฟ จีน-ลาว’ รองรับฤดูกาลผลไม้ ปี 66

ฟรุ้ทบอร์ด เห็นชอบ ตั้ง ‘ศูนย์บริหารจัดการตู้และขบวนรถไฟ จีน-ลาว’ รองรับฤดูกาลผลไม้ ปี 66

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ (ฟรุ้ทบอร์ด-Fruit Board) โดยที่ประชุมรายงานสรุปผลการประชุมเฉพาะกิจการเตรียมความพร้อมในการใช้เส้นทางรถไฟจีน – ลาว

ซึ่งเป็นโอกาสของฝ่ายไทยและขยายเส้นทางการขนส่งทางราง เพื่อเพิ่มศักยภาพการนำเข้า – ส่งออกสินค้าไปจีน และผ่านจีนไปยังสหภาพยุโรป ผ่านเส้นทางตะวันออกกลาง และเอเซียกลาง

รถไฟ จีน-ลาว

จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการตู้และขบวนรถไฟ จีน-ลาว รองรับฤดูกาลผลไม้ ปี 66

มีการดำเนินการ ดังนี้

  1. การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการตู้และขบวนรถไฟ มีหน้าที่ในการรับจองตู้และขบวนรถไฟ เพื่อรองรับฤดูกาลผลไม้ ปี 2566 โดยความร่วมมือภาคีเครือข่ายภาคเอกชน โดยประสานงานกับสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย
  2. การปรังปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟ ไทย – จีน -ลาว รวมไปถึงการขยายเส้นทางขนส่งสินค้าผ่านจีนไปสู่ภูมิภาคอื่น
  3. เร่งรัดการเสนอขอรับงบประมาณสนับสนุนสำหรับระบบตรวจสอบ รวมไปถึงอุปกรณ์วิทยาศาสตร์และโครงการพื้นฐานของด่านส่งออกที่สำคัญ เช่น ด่านมุกดาหาร ด่านนครพนม และด่านหนองคาย
  4. ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การขนส่งสินค้าเกษตรจากประเทศไทยสร้างการรับรู้ ข้อปฏิบัติ ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟไทย – จีน – ลาว ในระดับพื้นที่ควบคู่ไปด้วย

รถไฟ จีน-ลาว

แก้ปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า คณะกรรมการ ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ ปี 2566” ที่นำเสนอโดยคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ และการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของเกษตรกรเพื่อการส่งออกทุเรียนของประเทศไทย

ซึ่ง”โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ ปี 2566”  เป็นนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญการควบคุมและป้องกันทุเรียนอ่อนทุเรียนด้อยคุณภาพเพื่อให้ผลผลิตทุเรียนที่จะทำการส่งออกต้องได้คุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานการส่งออกที่กำหนด

โดยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ 904/2565 แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพและการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของเกษตรกรเพื่อการส่งออกทุเรียนของประเทศไทย มีหน้าที่ ศึกษา วิเคราะห์ และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา และได้จัดทำแผนงานการขับเคลื่อนคณะทำงานฯ ด้วยงบประมาณรวม 71.44 ล้านบาท

รถไฟ จีน-ลาว

ตั้งจุดบริการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน

โดยมอบหมาย กรมส่งเสริมการเกษตร บูรณาการในพื้นที่สวนทุเรียน จัดตั้งจุดบริการตรวจเปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ในพื้นที่ 5 จังหวัด รวม 68 จุด ได้แก่ จันทบุรี(40 จุด) ตราด(7 จุด) ระยอง(6จุด) ชุมพร(10 จุด) นครศรีธรรมราช (5 จุด) สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจากกรมประมงและกรมปศุสัตว์ รวม 100 ท่าน ลงพื้นที่ตรวจรายแปลง และกรมวิชาการเกษตร มีหน้าที่ ตรวจสอบ โรงคัดบรรจุ (ล้ง)

ทุเรียนที่นำมาส่งที่ล้งจะต้องมีใบรับรองผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ก่อนจะส่งไปตลาดภายในประเทศ และต่างประเทศ ในการส่งออกไปยังประเทศจีนนั้น

กรมวิชาการเกษตร จะตรวจสอบทุเรียน – สวนทุเรียนต้องได้รับการรับรอง GAP – โรงคัดบรรจุต้องได้รับการรับรอง GMP – ผลผลิตทุเรียนต้องเป็นไปตาม มกษ 3-2556 ก่อนปิดตู้คอนเทนเนอร์

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร จะได้มีการปรับปรุงการตรวจสอบมาตรฐานGAP และ GMP และแจ้งให้ทางตลาด จีน ให้ทราบในทุกไตรมาสของปีการส่งออก

นายอลงกรณ์ ยังได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง (นอกรอบ) เพื่อหารือราคาค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมสำหรับการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP และ GMP เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo