Business

‘ผู้ประกอบการ SMEs’ มาทางนี้ กรมบัญชีกลาง ออก ‘แนวทางปฏิบัติเพิ่มเติม’ การสนับสนุนจากภาครัฐ เริ่ม 1 ก.พ. นี้

‘ผู้ประกอบการ SMEs’ มาทางนี้ กรมบัญชีกลาง ออก ‘แนวทางปฏิบัติเพิ่มเติม’ รายได้เกิน ไม่ได้รับสิทธิสนับสนุนจากรัฐ เริ่ม 1 ก.พ. นี้

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีมาตรการในการส่งเสริมผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงไม่แน่นอน

โดยคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (คณะกรรมการวินิจฉัย) ได้อนุมัติยกเว้นและกำหนดแนวทางปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563

เช่น การให้แต้มต่อด้านราคากับผู้ประกอบการSMEs ในการเสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดของผู้เสนอราคารายอื่นไม่เกิน 10% เป็นต้น

ผู้ประกอบการ SMEs

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบว่า มีผู้ประกอบการ SMEs ที่รับงานจากหน่วยงานของรัฐ ที่มีรายได้ในรอบปีปฏิทินสูงกว่ารายได้ ที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะประเมินให้ผู้ประกอบรายนั้นเป็น SMEs – GP และได้รับสิทธิตามกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมสนับสนุน ผู้ประกอบการSMEs

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และประหยัดงบประมาณของหน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการวินิจฉัย โดยได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติ สำหรับการส่งเสริมหรือสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพิ่มเติม ดังนี้

ผู้ประกอบการ SMEs

แนวปฏิบัติสำหรับการส่งเสริม SMEs เพิ่มเติม

  1. หลักเกณฑ์รายได้ที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กำหนดไว้สำหรับการขึ้นทะเบียนเป็น SME – GP
  • วิสาหกิจขนาดย่อย (Micro) ภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ รายได้ไม่เกิน 1,800,000 บาท
  • วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ภาคการผลิต รายได้ไม่เกิน 100,000,000 บาท ภาคการค้าและภาคบริการ รายได้ไม่เกิน 50,000,000 บาท
  • วิสาหกิจขนาดกลาง (Medium) ภาคการผลิต รายได้ไม่เกิน 500,000,000 บาท ภาคการค้าและภาคบริการ รายได้ไม่เกิน 300,000,000 บาท
  1. การพิจารณาให้แต้มต่อด้านราคาแก่ผู้ประกอบการ SMEs

กรณีที่ผู้ประกอบการSMEs ทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐจนมีวงเงินสัญญาสะสมตามปีปฏิทิน เมื่อนำมารวมกับราคาที่เสนอในครั้งนี้แล้ว มีมูลค่ารวมกันเกินกว่ามูลค่าของรายได้ตามขนาด ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ สสว. ผู้ประกอบการSMEs รายนั้นจะไม่ได้รับการพิจารณาแต้มต่อด้านราคา กรณีการเสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดของผู้เสนอราคารายอื่นไม่เกิน 10%

  1. การดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ
  • การกำหนดเงื่อนไข หน่วยงานของรัฐกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ไว้ในแบบประกาศและเอกสารเชิญชวนที่คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐกำหนด
  • แนวทางการพิจารณา ให้คำนวณมูลค่าสัญญาที่ได้ลงนามกับหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ในปีปฏิทินที่เข้ายื่นข้อเสนอ โดยไม่รวมสัญญาที่หน่วยงานของรัฐได้มีการบอกเลิกสัญญาหรือตกลงเลิกสัญญาแล้ว รวมกับราคาที่ผู้ประกอบการSMEs ได้เสนอในการยื่นข้อเสนอในครั้งนั้น
  1. กรณีที่วงเงินการจัดซื้อจัดจ้างครั้งหนึ่งไม่เกิน 500,000 บาท ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา ถือเป็นผู้ประกอบการSMEs โดยไม่ต้องตรวจสอบรายซื่อการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการSMEs

ผู้ประกอบการ SMEs

บังคับใช้ 1 ก.พ.นี้   

แนวทางปฏิบัติฯ ดังกล่าว มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 56 ลงวันที่ 24 มกราคม 2566

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Call Center กรมบัญชีกลาง 02 270 6400 กด 3 ในวัน เวลาราชการ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo