Business

ธุรกิจฟื้นตัวปี 2566 หลังโควิดคลี่คลาย เปิดประเทศ ผ่อนปรนมาตรการ

จับตาธุรกิจฟื้นตัวหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ท่องเที่ยวตัวเต็งฟื้นตัวรับมาตรการเปิดประเทศ ตามด้วยธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมถึงธุรกิจด้านสุขภาพความงาม ค้าปลีก

หลังจากโควิด-19 คลี่คลายและได้รับการประกาศเป็นโรคประจำถิ่น การเปิดประเทศเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ แม้ว่าในช่วงปลายปี 2565 ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ทำลายความหวังว่าในปี 2566 เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น

ธุรกิจฟื้นตัว

สำหรับภาคธุรกิจเอง ถือว่ามีแสงสว่างอยู่ปลายอุโมงค์ โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ฟื้นตัว จากการคลี่คลายของโควิด-19 โดยในปี 2566 คาดว่าจะมีธุรกิจฟื้นตัว ดังนี้

ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ฟื้นตัว

ธุรกิจท่องเที่ยว ถือเป็นธุรกิจฟื้นตัวในปี 2566 โดยเริ่มเห็นแนวโน้มการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 เกิน 11 ล้านคนแล้ว

นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ปี 2566 ททท.ตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขั้นต่ำไว้ที่ 18 ล้านคน

ทั้งนี้ หากรัฐบาลจีนเปิดให้ชาวจีนเดินทางระหว่างประเทศได้ เชื่อว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย ขยับขึ้นไปถึง 25 ล้านคนได้

จากนั้นปี 2567 เมื่อนักท่องเที่ยวชาวจีนกลับมาอย่างเต็มที่ ตลอดทั้งปีก็จะเกิด Great Resumption หรือการฟื้นฟูอย่างยิ่งใหญ่ ของธุรกิจท่องเที่ยวไทย

shutterstock 521163331

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 จะอยู่ที่ราว 13-20 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมและที่พักจะทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง

กลุ่มธุรกิจโรงแรมที่มีโอกาสฟื้นตัวมากที่สุดคือ กลุ่มที่อยู่ในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวไทย, กลุ่มที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง รวมถึงกลุ่มโรงแรมที่มีรายได้จากการจัดอีเว้นท์และประชุมสัมมนา

นอกจากนี้ ยังคาดว่า อัตราการเข้าพักของโรงแรม จะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ประมาณ 52%-60% จาก 44% ในปี 2565 แต่ยังต่ำกว่าปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 70.08% คิดเป็นรายได้รวมในปี 2566 ประมาณ 5-6 แสนล้านบาท

ร้านอาหารรับอานิสงส์ท่องเที่ยว-เศรษฐกิจฟื้น 

ร้านอาหาร ถือเป็นอีกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารนั่งทาน เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน หันไปสั่งเดลิเวอรีมากขึ้นในช่วงโควิด ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องปรับตัวขนานใหญ่ ด้วยการทำธุรกิจทั้งนั่งทานที่ร้านและเดลิเวอรี เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของลูกค้า

shutterstock 1935930802

ในปี 2566 ธุรกิจร้านอาหารจะได้รับปัจจัยบวกจากกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศที่ขับเคลื่อนได้ตามปกติ รวมถึงการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ประกอบกับการทำตลาดของผู้ประกอบการร้านอาหาร ร่วมกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหาร ตลอดจนการขยายสาขาของผู้ประกอบการรายใหญ่ และนำเชนร้านอาหารจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในไทยเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารยังมีความเปราะบาง จากกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ สวนทางกับต้นทุนธุรกิจที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น ทำให้การลงทุนยังต้องทำด้วยความระมัดระวัง ควบคู่กับควบคุมต้นทุน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2566 ธุรกิจร้านอาหารน่าจะเติบโต 2.7%-4.5% จากปี 2565 (ขณะที่ปี2565
คาดว่ามีการขยายตัว 12.9%) หรือมีมูลค่า 4.18-4.25 แสนล้านบาท โดยมีปัจจัยเรื่องการควบคุมต้นทุน และรักษากำไรเป็นโจทย์สำคัญ

ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์หวังรายได้แตะ 2.5 หมื่นล้าน

หลังจากไทยเปิดประเทศในช่วงกลางปี 2565 ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ () เริ่มกลับมาฟื้นตัว หลังจากลดลงอย่างมากช่วงวิกฤติโควิด จากการล็อกดาวน์ทั่วโลกโดยในปี 2565

shutterstock 2015424077

ttb analytics คาดว่ารายได้จะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 80% ของรายได้ก่อนวิกฤติโควิด-19 ในปี 2562 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2566 แตะ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับก่อนการเกิดวิกฤติโควิด-19

เทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) และการพัฒนาใช้เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ เป็นปัจจัยหลักหนุนการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ในอนาคต หลังวิกฤติโควิด-19 ทั่วโลกได้รับบทเรียนถึงผลกระทบอย่างรุนแรงที่เกิดทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม

ขณะที่โรคอุบัติใหม่ มีแนวโน้มที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แนวคิดการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง หรือกล่าวคือการทำให้มีสุขภาพแข็งแรง เป็นกระแสที่ได้รับการตอบรับจากประชากรทั่วโลก ในการใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพ

การแสวงหาจุดหมายปลายทางที่ตอบโจทย์ในด้านนี้จึงเป็นที่มาของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยจะมาแทนที่การท่องเที่ยวแบบดั้งเดิมจากนักท่องเที่ยวกลุ่มไฮเอนด์ที่มีคุณภาพ และกำลังซื้อสูง ซึ่งประเทศไทยถือได้ว่าเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ

ธุรกิจค้าปลีก omnichannel คือคำตอบ

วิกฤติโควิดที่ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกินค้าปลีกออฟไลน์ ได้รับผลกระทบมากพอสมควร แต่ในทางกลับกัน ก็กลายเป็นโอกาสของคนที่ปรับตัวเร็ว และผสานช่องทางค้าขายสินค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน นั่นคือ omnichannel

shutterstock 522380977

จากข้อมูลของ NielsenIQ พบว่า 86% ของผู้ซื้อ ซื้อสินค้าทั้งในร้านค้าจริงและออนไลน์ ในขณะที่ 14% ซื้อสินค้าในร้านค้าจริงเท่านั้น นอกจากนี้พบว่าผู้บริโภคน้อยกว่า 1% ซื้อสินค้าทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว

แต่หลังจากโควิดคลี่คลาย ทิศทางของธุรกิจค้าปลีกเริ่มเปลี่ยนไปอีกครั้ง โดยคาดว่า จากการอัดอั้นของนักช้อปช่วงโควิด จะทำให้ความนิยมในการเลือกซื้อสินค้าช่องทางออฟไลน์ จะกลับมาฟื้นตัว จากการที่นักช้อปต้องการสัมผัสสินค้าจริง และการไปห้าง ยังสามารถได้ความครบครันทั้งการช้อปปิ้งและการพักผ่อน

จากการศึกษา Journey ผู้บริโภคสมัยใหม่จำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ตัดสินใจซื้อสินค้าในทันที ยังจะออกมาสัมผัสสินค้าตัวจริงที่อยู่บนหน้าร้านแบบออฟไลน์ ก่อนจะไปตัดสินใจซื้ออีกครั้งบนออนไลน์ หรือจำนวนหนึ่งก็ตัดสินใจซื้อที่หน้าร้านแบบออฟไลน์ ดังนั้นในปี 2566 ธุรกิจร้านค้าปลีกต่าง ๆ ต้องพร้อมที่รองรับการจับจ่ายของลูกค้าทุกรูปแบบ

EIC ไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ว่า ภาพรวมมูลค่าธุรกิจค้าปลีกในปี 2565 จะกลับมาขยายตัวอยู่ราวที่ 11% ต่อปี มูลค่า 3.45 ล้านล้านบาท และจะเติบโตต่อเนื่องในปี 2566

สายการบินแห่เพิ่มเที่ยวบินรับเปิดประเทศ

สายการบิน เป็นอีกธุรกิจที่เจ็บหนักจากโควิด-19 ดังนั้น เมื่อโควิดคลี่คลาย มาตรการเดินทางผ่อนปรนมากขึ้น เริ่มมีการเปิดประเทศเพิ่มมากขึ้น ย่อมทำให้ธุรกิจฟื้นตัวเร็วเช่นกัน

shutterstock 178012379

บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด รายงานว่า ตั้งแต่ที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศ เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวและปริมาณเที่ยวบินค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ในเดือนตุลาคม ปริมาณเที่ยวบินเฉลี่ย 1,637 เที่ยวบินต่อวัน เดือนพฤศจิกายน ปริมาณเที่ยวบินเฉลี่ย 1,806 เที่ยวบิน ต่อวัน ในเดือนธันวาคม ปริมาณเที่ยวบินเฉลี่ย 1,800 เที่ยวบินต่อวัน

ในขณะที่ภาพรวมตลอดทั้งปี 2565 มีเที่ยวบินรวม 520,367 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 79% ซึ่งมีปริมาณเที่ยวบินรวม 291,397 เที่ยวบิน

สำหรับในปี 2566 คาดการณ์ว่า จะมีเที่ยวบิน รวม 858,387 เที่ยวบิน หรือ เฉลี่ย 2,352 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งจะเพิ่มขึ้น 65% จากปี 2565

ปัจจัยที่จะส่งผลให้เที่ยวบินมีปริมาณเพิ่มขึ้น ได้แก่ การเดินทางภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น และการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวอาเซียน อินเดีย และตะวันออกกลาง ซึ่งในปี 2566 สัดส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และนโยบายเปิดประเทศของจีนจะส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo