Business

จับตาตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า หลังประกาศใช้ ‘ร่างกฎหมายสินค้าชำรุด’

ส่องตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า หากประกาศใช้ร่างกฎหมายสินค้าชำรุด แนะผู้ผลิต เจ้าของแบรนด์ เน้นคุณภาพ ความคุ้มค่า และบริการหลังการขาย

หลังจากเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. …. โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการ ต้องรับผิดชอบความชำรุดบกพร่องของสินค้าเป็นระยะเวลา 2 ปี นับจากวันส่งมอบ

กฎหมายสินค้าชำรุด

ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยี ที่ยากแก่การพบความชำรุดในตอนซื้อสินค้า โดยรวมถึงสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีความหลากหลาย และมีการใช้งานเป็นวงกว้างในหมู่ผู้บริโภค

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว หากผ่านการพิจารณาในขั้นตอนรัฐสภา และประกาศใช้ น่าจะส่งผลผลักดันให้ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้ามุ่งไปสู่สินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานยิ่งขึ้น ในขณะที่น่าจะกระทบต้นทุนดำเนินงานของผู้ประกอบการไม่มากนัก โดยเฉพาะหากผู้ประกอบการมีการผลิตหรือจำหน่ายสินค้าที่ได้คุณภาพมาตรฐานอยู่ก่อนแล้ว

ปัจจุบัน เครื่องใช้ไฟฟ้าในตลาดไทยมักมีระยะประกันอย่างน้อย 1 ปี ขณะที่ผู้บริโภคมักไม่ค่อยอยากยุ่งยาก และเสียเวลาดำเนินการเคลม หากสินค้าเสียหายเล็กน้อย แต่ยังคงใช้งานได้ ทำให้โดยภาพรวมต้นทุนการเคลมสินค้าชำรุดของอุตสาหกรรมในปัจจุบัน จึงไม่ค่อยสูงนัก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการสต็อกอะไหล่เผื่อการซ่อมแซมสินค้าในกรณีใช้งานไม่ได้

shutterstock 468944414

ขณะที่ในอนาคต หลังประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.ฯ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นทั่วไปที่จับตลาดแมส และมักมีระยะประกันเพียง 1 ปี น่าจะจำเป็นต้องขยายระยะประกันให้ครอบคลุมอย่างน้อย 2 ปีตามเงื่อนไขของกฎหมายใหม่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบบ้างในแง่การดำเนินการ โดยเฉพาะสินค้าที่แต่เดิมไม่มีประกันซึ่งน่าจะมีจำนวนน้อยมาก

ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโมเดล และฟังก์ชันของผลิตภัณฑ์ที่ขายอยู่มากนัก จึงไม่น่าจะส่งผลต่อราคาขาย

อย่างไรก็ดี ผู้นำเข้าเพื่อจำหน่าย ซึ่งมักมีมาร์จินจากการขายสินค้าไม่สูงนัก และมีอำนาจต่อรองที่น้อยกว่าเจ้าของแบรนด์ในต่างประเทศ อาจจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อลดผลกระทบ โดยหันไปเน้นขายผลิตภัณฑ์ที่มีการรับประกันจากเจ้าของแบรนด์ หรือมีคุณภาพมาตรฐานสูงขึ้น และค่อยทยอยลดการจำหน่ายกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการรับประกันจากเจ้าของแบรนด์ลง

เครื่องใช้ไฟฟ้า

ทั้งนี้ การเลือกแนวทางปรับตัวน่าจะยังขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการแต่ละราย ซึ่งมีสัดส่วนต้นทุน กำไร ภาพลักษณ์ของแบรนด์ และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างกัน

ดังนั้น ภาพรวมผลกระทบจากร่างพ.ร.บ.ฯ ต่อตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าและราคาน่าจะอยู่ในวงจำกัด แต่ด้วยบริบทการแข่งขันที่เข้มข้นของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยที่มีผู้เล่นมากราย ในขณะที่ความภักดีต่อแบรนด์โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มลดลง ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเน้นในคุณภาพ ความคุ้มค่า และการบริการหลังการขายที่ดี

โดยเฉพาะในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัว ภายใต้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ตลอดจนแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งจะยังส่งผลต่อกำลังซื้อผู้บริโภค และอุปสงค์เครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศในช่วงข้างหน้า หลังจากที่ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้หดตัวกว่า 2.5%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo